HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

โคราชจีโอพาร์ค ขนคุณครูเขาใหญ่ ติดอาวุธทางปัญญา ร่วมท่องดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโกโคราช

วันนี้ 18 พฤศจิกายน 2566 ที่บ้านสะพานหิน ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ดร.ณัฏฐินี ทองดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นำคุณครูในกลุ่มเขาใหญ่ จำนวน 30 คน ร่วมทัศนศึกษาดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก โคราช ภายหลังสหประชาชาติ ได้มีมติรับรองให้ “โคราชจีโอพาร์ค” (KHORAT Geopark) เป็นอุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geopark) ส่งผลให้จังหวัดนครราชสีมา กลายเป็นอุทยานธรณีโลกแห่งที่ 2 ของประเทศไทย เป็นเมืองที่ 4 ของโลก ที่มีดินแดนแห่ง 3 มงกุฎของยูเนสโก (Triple Crown) ในจังหวัดเดียวกัน

โดยเริ่มต้นการเดินทาง ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อ.ปากช่อง ต่อด้วยพื้นที่สงวนชีวะมณฑล สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช อ.วังน้ำเขียว และปิดท้ายวันนี้ ที่พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน อ.เมืองนครราชสีมา

 

 

 

 

 

 

ขณะที่วันนี้ คณะครู Dino hunting รุ่น 1 จากโรงเรียนในกลุ่มเขาใหญ่ 30 คน ได้มาศึกษาเรียนรู้สร้างสรรค์ เสริมจินตนาการ ในโครงการวิจัยไดโนเสาร์ไทย-ญี่ปุ่น ต่อยอดโคราชมหานครแห่งบรรพชีวิน โดยมี ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช บรรยายให้ความรู้ การเปิดพื้นที่ขุดสำรวจซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ไทย-ญี่ปุ่น ประจำปี 2566 ณ พื้นที่ขุดสำรวจซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ บ้านสะพานหิน ตำบลสุรนารี อำเภอเมืองนครราชสีมา

 

 

 

 

ดร.ณัฏฐินี ทองดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เปิดเผยว่า โครงการวิจัยไดโนเสาร์ญี่ปุ่น-ไทย 2566 เป็นความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑ์ฟูกุอิ มหาวิทยาลัยฟูกุอิ ประเทศญี่ปุ่น และ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ประเทศไทย เป็นความร่วมมือเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ซึ่งในปี พ.ศ.2566 การเปิดโครงการสำรวจนี้ดำเนินการภายใต้โครงการการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) เพื่อศึกษาวิจัยซากดึกดำบรรพ์และสร้างกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับประชาชนและเยาวชน ผ่านกิจกรรม DINO HUNTING 2023

 

 

 

สำหรับผู้สนใจจะเข้าร่วมกิจกรรมสามารถร่วมออกสำรวจได้ระหว่างวันที่ 16-30 พฤศจิกายน 2566 ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้ลงพื้นที่ขุดค้นจริงพบกับนักบรรพชีวินวิทยาชาวไทยและญี่ปุ่น เปิดรับวันละ 2 รอบ รอบละ 20 คน พร้อมกันนี้ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ จะมีการจัดเทศกาลมหัศจรรย์โลกล้านปี ที่นี่โคราชฟอสซิลมิวเซียม ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2566 – มกราคม 2567 พบกับกิจกรรม Dino Hunting ตามล่าหาไดโนเสาร์, กิจกรรม Night Museum พิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน, กิจกรรม Green Market และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้อีกมากมาย

ดังนั้น ผู้ที่สนใจสามารถสอบถาม รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ โทร. 0-4437-0739 หรือ Facebook Fanpage : พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน.

 

 

 

 

ประสิทธิ์ วนะชกิจ ผู้สื่อข่าว จ.นครราชสีมา รายงาน