HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

บรรยากาศแสงแดดในฤดูหนาวที่ถึงกับต้องกางร่มขณะพิธีเปิดงาน ชาวตำบลเกาะขนุนมีลุ้นเครื่องจักรขนาดใหญ่มาแน่ ทันทีที่พลังงานจังหวัดฉะเชิงเทรา รับปากเตรียมชงเรื่องให้รัฐมนตรีฯสนับสนุนงบประมาณ หลังนายอำเภอ ผู้นำท้องถิ่นฯทำพิธีเปิดป้ายธนาคารขยะพลาสติกพลังงานทดแทน ตามโครงการรณรงค์ลดปริมาณขยะมูลฝอยจากแหล่งกำเนิด ภายใต้กิจกรรม จัดตั้งธนาคารขยะพลาสติกเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน

วันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2566 นายกัมปนาท ชูสุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะขนุน เปิดประตูต้อนรับ นางปิณฑิรา เก่งการพานิช นายอำเภอพนมสารคาม ตัวแทนท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฉะชิงเทรา คุณพรรณทิภา แอดำ พลังงานจังหวัดฉะเชิงเทรา คุณสาโรช ท้องถิ่นจังหวัดฉะเชิงเทรา และหัวหน้าส่วนราชการ พร้อมคณะผู้บริหาร ส.อบต. ผอ.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพฯ สาธารณะสุข อสม ผู้อำนวยการโรงเรียนต่างๆ ตัวแทนบริษัทฯมากมาย และชาวบ้านทุกชุมชน สมาชิกธนาคารขยะพลาสติกฯ ร่วมพิธีเปิดป้ายธนาคารขยะพลาสติกพลังงานทดแทนโครงการรณรงค์ลดปริมาณขยะมูลฝอยจากแหล่งกำเนิด ภายใต้กิจกรรม จัดตั้งธนาคารขยะพลาสติกเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน ณ อาคารอเนกประสงค์ อบต.เกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา

 

ด้านนายกฯ กัมปนาท ชูสุวรรณ นำกล่าวรายงาน มีนางปิณฑิรา เก่งการพานิช นายอำเภอพนมสารคาม ตัวแทนท่านผู้ว่าราชการจังหวัดฉะชิงเทรา เป็นประธาน บรรยากาศแสงแดดในฤดูหนาวที่ถึงกับต้องกางร่ม โดยมีการกล่าวขอบคุณที่ได้ให้เกียรติมาเป็นประธานในพิธีเปิดป้าย ธนาคารขยะพลาสติกเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน ในวันนี้ที่ประเทศไทยมีขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน (ร้อยละ 25) ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน (ร้อยละ 75) ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งพลาสติกส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก กล่องโฟมบรรจุอาหาร ไม่มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่

 

โดยส่วนใหญ่จะถูกทิ้งเป็นขยะมูลฝอยในปริมาณและสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาขยะพลาสติกที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมมักเกิดจากผู้บริโภคที่ไม่ได้คัดแยกขยะมูลฝอย ไม่มีความเข้าใจในการรีไซเคิล และมีการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง โดยขยะพลาสติกจะถูกนำไปฝังกลบรวมกับขยะมูลฝอยอื่นๆ สถานการณ์ปริมาณขยะมูลฝอยในเขตพื้นที่ตำบลเกาะขนุน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มีการเก็บขนขยะมูลฝอยเพื่อนำไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจรโซนที่ 1 องค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวนทั้งสิ้น 1,755.01 ตัน (มีขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมดคิดเป็นจำนวน 210.60 ตัน) ซึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมการให้บริการ ในการกำจัดมูลฝอยในอัตรา 270 บาท/ตัน คิดเป็นค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะทั้งสิ้น 473,852.70 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ทั้งนี้ปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 ถึง 24.73 ตัน ดังนั้น องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะขนุน จึงจัดทำโครงการรณรงค์ลดปริมาณขยะมูลฝอยจากแหล่งกำเนิด ภายใต้กิจกรรม จัดตั้งธนาคารขยะพลาสติกเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนขึ้น

 

ขณะพิธีเปิด จะเห็นว่าทั้งประธาน ทั้งผู้กล่าวรายงาน ยิ้มรับแสงแดดที่วันนี้ร้อนแรงมาก จนมีเสียงออกมาว่า กางร่มรับแดดในเดือนฤดูหนาวจนเหงื่อไหล หลังตัดริบบิ้นเสร็จเพลงมาร์ชขึ้น แต่ผ้าม่านไม่ขยับ ผู้สื่อข่าวจึงพบว่าเจ้าหน้าที่เข้าใจผิดคิวดึงเชือกเปิดผ้าม่านช้าไปนิด ก็ถือเป็นอีกหนึ่งสีสัน ก่อนที่นายกฯกัมปนาท ชูสุวรรณจะนำผู้ร่วมงานชมกระบวนการผลิต พร้อมร่วมให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่าพลังงานจังหวัดฉะเชิงเทรา เตรียมชงเรื่องถึงทางรัฐบาล โดยกระทรวงพลังงานในการสนับสนุนงบประมาณให้มีเครื่องจักรในกระบวนการผลิตที่สูงขึ้นต่อไป

 

…..สราวุฒิ บุญสร้าง ผู้สื่อข่าวภูมิภาคฉะเชิงเทรา