HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตรัง หนุนเกษตรกรเพาะเลี้ยงแหนแดง

วันที่ 8 ม.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรัง ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตรัง หมู่ที่ 5 ต.สุโสะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง มีการเพาะเลี้ยงแหนแดงให้ได้มากกว่าเดือนละ 100 กิโลกรัม เพื่อผลิตเป็นพ่อแม่พันธุ์แจกจ่ายให้กับเกษตรกรที่ปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ ได้นำไปเพาะขยายพันธุ์ จนใช้เป็นอาหารของสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ หมู หอยเชอรี่สีทองและปลากินพืชได้ทุกชนิด เนื่องจากมีไนโตรเจนและโปรตีนสูง อีกทั้งยังใช้เป็นปุ๋ยพืชสด หรือนำไปตากแห้ง ใช้ผสมดินแทนพีทมอสที่มีราคาแพงได้เป็นอย่างดี เพราะมีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำ และมีธาตุอาหารที่จำเป็นหลายชนิด ซึ่งจากงานวิจัยพบว่าแหนแดงมีไนโตรเจนสูงถึง 4-5 % มากกว่าพืชตระกูลถั่วที่มี 2.5-3 % เท่านั้น หากเกษตรกรนำไปขยายพันธุ์ได้ จะช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดการใช้สารเคมี และดีต่อสุขภาพ แถมแหนแดงอ่อนที่ยังเป็นสีเขียว ยังนำมาใช้ทำอาหาร เช่น ลวกจิ้มน้ำพริก แกงเลียง ผัดน้ำมันหอยและแกงอื่น ๆ ได้

นอกจากนี้ ยังช่วยบำบัดน้ำเสีย ลดความสกปรกของน้ำได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งหากเกษตรกรนำไปขายยังสามารถสร้างรายได้ได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากแหนแดงจะแตกตัวเร็ว ภายในเวลา 2-3 วัน แหนแดงจะแตกตัวเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าตัว อีกทั้งยังดูแลไม่ยุ่งยาก เพาะเลี้ยงง่าย สามารถเลี้ยงในบ่อพลาสติก บ่อซีเมนต์ กะละมังหรือภาชนะอื่น ๆ ได้ แค่ใส่ดินและปุ๋ยคอกลงไป ก่อนใส่น้ำให้แหนแดงลอยได้ และวางในที่ที่มีแสงแดดปานกลาง เพียงแค่ 1 อาทิตย์ก็จะมีแหนแดงเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก

 

ด้าน น.ส ณัฎฐา แสงแก้ว นักวิชาการเกษตร ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรตรังกล่าวว่า ได้ทำการเพาะแหนแดงมาประมาณ 4 ปีแล้วได้น้ำหนักสดแหนแดงเดือนละ 100 กิโล เป้าหมายคือให้เกษตรกรนำไปใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต ทั้งเรื่องการใช้ปุ๋ยเคมีและลดต้นทุนอาหาร เพราะแหนแดงนอกจากจะมีโปรตีนสูงแล้ว ยังมีไนโตรเจนสูงด้วย ทำให้สัตว์กินพืชจะชอบ เช่น เป็ด ไก่ ปลา หอยเชอรี่สีทอง ซึ่งเกษตรกรจะเข้ามาขอพ่อแม่พันธุ์ไป ซึ่งเราส่งเสริมให้ไปเลี้ยงต่อ ซึ่งนอกจากจะมีแบบสดแล้ว ยังมีแบบตากแห้งเอามาผสมกับดิน เป็นวัสดุปลูก เพราะมีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำคล้าย ๆ พีทมอส ราคาถูก ถ้าเกษตรกรไม่มีเงินมากพอก็ใช้ตัวนี้แทนได้

ถนอมศักดิ์  หนูนุ่ม/ จ.ตรัง