HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา

วันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ห้องประชุม เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ให้การต้อนรับ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท องคมนตรี และคณะ เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อรับฟังการบรรยายผลการดำเนินงานโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รับฟังปัญหาอุปสรรค พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และเครือข่ายอาสาชุดผลักดันช้าง โดยมี นายวีระ ขุนไชยรักษ์ รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นายเผด็จ ลายทอง ผู้อำนวยการสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 (ศรีราชา) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมรายงานผลการดำเนินงานโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ของปีงบประมาณปี พ.ศ. 2566 และแผนการดำเนินของปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

โดยผลการดำเนินงานโครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในส่วนของจังหวัดฉะเชิงเทรา
ด้านการช่วยเหลือเยียวยาของจังหวัดฉะเชิงเทรา ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2565 – เดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุภัยจากช้างป่า จำนวน 17 ครั้ง มีผู้ได้รับผลกระทบ ทั้งสิ้นจำนวน 267 ราย เสียชีวิต 3 ราย และได้รับบาดเจ็บ 16 ราย โดยหน่วยงานต่าง ๆ ได้ให้การช่วยเหลือ ได้แก่มูลนิธิพัชรสุธาคชานุรักษ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ชมรมแม่บ้านมหาดไทย และส่วนราชการ กองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากช้างป่าในพื้นที่ และกองทุน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากช้างป่าในพื้นที่ รวม 267 ครั้ง เป็นเงินจำนวนรวม 1,029,196.50 บาท

ด้านการบริหารจัดการปัญหาช้างป่าตามแผนพัฒนาจังหวัดฉะเชิงเทรา ปี 2565 ได้ดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนอาชีพของผู้ได้รับผลกระทบจากภัยช้างป่า เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดฉะเชิงเทรา ปี 2566 พัฒนาผ้าทอวิถีอีสานบูรพาฉะเชิงเทรา ทอผ้าไหมพื้นถิ่นมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติ และในปี 2567 มีโครงการพัฒนาพื้นที่ป่านันทนาการ นอกจากนี้ยังมีแผนการดำเนินงาน ในปี 2568 จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการอนุรักษ์ป้องกันช้างป่า โดยการปลูกพืชอาหารช้าง เนื้อที่ 5,000 ไร่ และสร้างโป่งเทียม จำนวน 50 แห่ง โครงการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนแบบพุ่งเป้า และโครงการเสริมสร้างศักยภาพชุมชนด้านการจัดการปัญหาเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนและช้าง

ทั้งนี้ด้านการควบคุมประชากรช้างป่า ด้วยวัคซีนคุมกำเนิด ปัจจุบันกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช อยู่ระหว่าง ขั้นตอนดำเนินการจ้างที่ปรึกษา เพื่อวิเคราะห์ สรุปผลแนวทางการดำเนินงาน โครงการนำร่อง ใช้วัคซีนคุมกำเนิดระยะยาวในช้างป่าเอเชีย เพื่อศึกษาและทดสอบ การใช้วัคซีนคุมกำเนิดในช้างเลี้ยง ก่อนจะขยายผลไปสู่การทดสอบในช้างป่า ต่อไป

อาษา/ปรีญาถรณ์/ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา