HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

พลิกวิกฤติเป็นโอกาส หลังวัวราคาตกจนต้องขายยกคอก เลยหันมาเลี้ยงตั๊กแตน นำมาทอดขายริมทาง สร้างรายได้ในยุคฝืดเคือง

วันที่ 4 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง ประชาชนต่างคิดหาวิธีสร้างรายได้จุนเจือครอบครัว ทำให้เกิดอาชีพต่างๆมากมาย โดยเฉพาะขายของข้างทาง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของรับประทาน ที่มีการมาตั้งเพิงขาย หรือจอดรถยนต์แล้วกางร่มขายข้างทาง ที่มักจะพบเห็นตามนอกเขตใกล้ตัวเมืองและตัวอำเภอต่างๆ ที่มีคนพลุกผล่าน  โดยเฉพาะที่บริเวณข้างถนนหลักหมายเลข 24 โชคชัย-เดชอุดม หน้า ปั๊มน้ำมัน ปตท.อำเภอปราสาท ขาเข้า กทม.ที่พบว่านายสุจินต์ ทองสุข อายุ 43 ปี  ม.4 บ.ตาเจก ต.โคกกลาง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ที่แต่งชุดคาวบอย ได้พาลูกสาวมาตั้งร้านเพิงชั่วคราวขายตั๊กแตนปาทังก้าและแมลงทอด ด้วยการนำโต๊ะมาตั้ง พร้อมร่มและเต๊นท์ขายของมาตั้งขายชั่วคราว  รวมทั้งยังนำเตาแก๊สพร้อมกระทะมาทอดตั๊กแตนขายกันแบบสดๆข้างทางกันเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีตั๊กแตนตัวเป็นๆที่บรรจุไว้ในถุงตาข่ายแขวนไว้ขายให้กับลูกค้าที่ต้องการนำไปทอดเองหรือนำไปเลี้ยงต่อ ราคาถุงละ 100 บาท หรือใครจะกินแบบทอดก็ถุงละ 50 บาท เป็นกลยุทธ์การขายที่แปลกตา เพราะไม่ค่อยเห็นว่ามีใครนำตั๊กแตนสดๆตัวเป็นๆมาวางขายข้างทางนอกจากส่วนใหญ่ที่เป็นผลไม้และอาหารอื่นๆ

 

 

 

 

 

 

 

นายสุจินต์ ทองสุข  คนขายตั๊กแตนทอด  กล่าวว่า เดิมตนเป็นเกษตรกรเลี้ยงหมู เลี้ยงวัว ตนเลี้ยงจำนวนมาก ในยุคที่วัวมีราคาแพง พอวัวราคาถูกจำเป็นต้องขายออก  ทำให้หญ้าที่ปลูกเลี้ยงวัวเหลือจำนวนมาก ตนจึงลงเฟสบุ๊คขายหญ้าทางออนไลน์ จากนั้นก็มีคนทักมาว่ามีหญ้าเยอะทำไมไม่เลี้ยงตั๊กแตน ตนจึงเปิดใจลองไปเสิร์ตหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต เพื่อดูวิธีการเลี้ยง ซื้อไข่มาเลี้ยงขีดละ 1 พันบาท กิโลละเป็นหมื่น ตนเลี้ยงและมีฟาร์มเลี้ยงตั๊กแตนที่บ้าน เลี้ยงมาได้เกือบ 1 ปีแล้ว  ชื่อสุจินต์ฟาร์ม มีโรงเรือน 5-6 โรงเรือน กว้าง 2 เมตร ยาว 3 เมตร หลังจากเลี้ยงก็ถือว่ารายได้ดี นอกจากจะขายส่งตัวเป็นๆแล้ว จึงมาลองหาที่วางขายและทอดขายข้างทางดู ปรากฏว่าขายดี ซึ่งขายข้างทางมาแล้ว 5-6 เดือน ลูกสาวจะมาช่วยเฉพาะวันหยุดวันเสาร์-อาทิตย์ ส่วนลูกค้ายังไม่ค่อยรู้เท่าไหร่นักว่าตนขายอยู่บริเวณนี้ วันหนึ่งก็ขายได้ประมาณ 2-3 พันบาท กำไรก็น่าจะได้ 500-600 บาท หากท่านใดสนใจซื้อหรือสอบถามข้อมูล ติดต่อมาได้ที่หมายเลข 089-5087746 .

 

 

 

 

 

 

 

 

ภาพ/ข่าว  นพรัตน์  กิ่งแก้ว  ผู้สื่อข่าว จ.สุรินทร์