HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย สั่งเปิดปฏิบัติการ “เชียงรายฟ้าใส (ไร้ควัน)” จัดระเบียบสังคมฯ ป้องกันเด็กและเยาวชนยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข ในการปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้า ตามนโยบาย มท.1

วันที่ 4 มีนาคม 2567 เวลา 18.00 น. ภายใต้การอำนวยการของ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายบัลลังก์ ไวทย์ศิริ ปลัดจังหวัดเชียงราย นายบุญส่ง ตินารี นายอำเภอเมืองเชียงราย พล.ต.ต.มานพ เสนากูล ผบก.ภ.จว.เชียงราย และ พ.ต.อ.โสภณ ม่วงเฟื่อง ผกก.สภ.เมืองเชียงรายได้สั่งการให้ฝ่ายปกครองร่วมกับตำรวจ นำโดยนายกองรบ กระทุ่มนัด ป้องกันจังหวัดเชียงราย ผู้ช่วยป้องกันจังหวัดเชียงราย สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดเชียงรายที่ 1 ปลัดอำเภอเมืองเชียงราย สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน กองร้อยอาสารักษาดินแดนอำเภอเมืองเชียงรายที่ 3 ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ออกปราบปรามร้านลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ให้แก่เด็กและเยาวชน

เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครอง บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนมาเป็นจำนวนมาก ว่ามีร้านลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าให้กับเด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชนทั่วไปโดยมีการบริการขายทั้งหน้าร้านและออนไลน์โดยมีการส่งของผ่านไรเดอร์ ซึ่งมีการเปิดขายเป็นจำนวนมาก
ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการสืบทราบว่ามีร้านในบริเวณโซนนิ่งสถานบริการ เปิดแอบขายบุหรี่ไฟฟ้าจำนวน 3 ร้าน ซึ่งทั้ง 3 ร้านมีการติดฟิล์มสีขาวขุ่นอำพรางไม่ให้มีการมองจากข้างนอกเข้าไปเห็นในบริเวณด้านใน และมีกล้องวงจรปิดรอบทิศทางเพื่อดูสถานการณ์จากภายนอก แต่ผู้ซื้อจะรู้กันภายในกลุ่มไลน์ เฟสบุ๊ค หรือสื่อสังคมต่างๆ
ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ทำการสืบทราบแล้วว่าทั้ง 3 ร้านมีการขายบุหรี่ไฟฟ้าจริง จึงวางแผนเข้าทำการจับกุมทั้ง 3 ร้านพร้อมกัน และจากการเข้าตรวจสอบพบว่าทั้งสามร้าน ตั้งอยู่ในตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จากการตรวจสอบภายในร้านทั้ง 3 ร้านพบบุหรี่ไฟฟ้า อุปกรณ์ น้ำยา และอุปกรณ์อื่นๆ อีกมากมายซึ่งสินค้าที่ตรวจยึดได้ของทั้ง 3 ร้านจำแนกเป็น
1. เครื่องบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 635 เครื่อง
2. หัวพอตบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 2,811 ชิ้น
3. บุหรี่ไฟฟ้าใช้แล้วทิ้ง จำนวน 1,810 ชิ้น
4. น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 208 ชิ้น
5. คอร์ยบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 353 ชิ้น
6. หัวคอร์ยบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 25 ชิ้น
มูลค่ารวมประมาณ 1,802,650 บาท

  • และจากการตรวจสอบการรับจ่ายเงินหรือเงินหมุนเวียนภายในร้าน พบแต่ละร้านมีรายได้ต่อวันตั้งแต่วันละ 10,000 – 40,000 บาทต่อวัน หรือตกเดือนละประมาณ 300,000 – 500,000 บาท ซึ่งจากการสอบถามผู้ดูแลพบ เจ้าของที่แท้จริงจะติดต่อผ่านไลน์และส่งของมาให้ขายจึงไม่ทราบราคาต้นทุนต่อชิ้น และจะขายบุหรี่ไฟฟ้าและอุปกรณ์ตั้งแต่ราคาหลักสิบ ถึง หลักพันบาท
    เจ้าหน้าที่จึงนำตัวผู้ดูแลทั้ง 4 ราย โดยแจ้งข้อหา
    1) ได้มีการซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 242 ตามมาตรา 246 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 ประกอบข้อ 4 แห่งประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
    2) ขายสินค้าบารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า โดยฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า ต้องระวางโทษ โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    เจ้าหน้าที่จึงนำตัวผู้ต้องหาพร้อมของกลางนำส่งพนักงานสอบสวน ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
    ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จะได้ปราบปรามร้านทั้งเปิดหน้าร้านและขายออนไลน์ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ต่อไป