HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ตรังเตรียมหญ้าแห้ง ไว้ช่วยเหลือเกษตรกร

วันที่ 7 มี.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางจรุณี ดำช่วย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ตรัง กล่าวว่า ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ตรัง ซึ่งเป็นหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ในส่วนภูมิภาค มีหน้าที่หลัก การสำรองอาหารสัตว์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่เลี้ยง โค กระบือ แพะ แกะหรือสัตว์สวยงามอย่างเช่นกระต่าย ทางศูนย์ฯได้ดำเนินการทำหญ้าแห้งในปี2567 ขณะนี้มีจำนวนหญ้าแห้ง 3พันฟ่อน จากที่ตั้งเป้าไว้ 7 พันฟ่อน โดยทางศูนย์ขณะนี้มีหญ้าแห้งทั้งหมด 8พันฟ่อน หรือ 1 แสน 6 หมื่นกิโลกรัม เนื่องจากมีหญ้าแห้งเหลือจากการผลิตในปีที่ผ่านมา ในส่วนของหญ้าสดนั้นไม่มีให้บริการกับเกษตรกร เนื่องจากทางศูนย์ฯก็ประสบปัญหาภัยแล้งเช่นกัน ทางศูนย์ฯได้มีการปรับปรุงพื้นที่เพื่อเตรียมปลูกหญ้าขึ้นมาทดแทน ในช่วงย่างเข้าสู่ฝนที่จะถึงนี้

 

อย่างไรก็ตามจะมีหญ้าหมัก จำนวน 1 หมื่น 7 พันกิโลกรัม ในส่วนของเกษตรกรที่ต้องการความช่วยเหลือ ทางศูนย์ฯได้มีขั้นตอนในการบริหารจัดการการจำหน่ายจ่ายแจกเสบียงอาหารสัตว์ ปี 2564 ที่ผ่านมานั้นเกษตรกรที่ประสบภัยนั้น จะได้รับความช่วยเหลือกรณีประกาศภัยพิบัติ แต่การประกาศภัยจะไม่ทันกับความเดือดร้อนของเกษตรกร จะมีเสบียงสัตว์ส่วนหนึ่งที่เกษตรกรสามารถขอรับได้ โดยให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน แล้วขอความช่วยเหลือผ่านมาทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปยังสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตรัง ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตรัง จะส่งเรื่องมาที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ตรัง เพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน ในปัจจุบันทางศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ตรัง ได้มอบเมล็ดพันธุ์และส่งเสริมการปลูกหญ้าให้กับเกษตรกร เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนอาหารสัตว์ ขณะนี้ยังไม่ได้รับการร้องขอความช่วยเหลือแต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังขอเตือนเกษตรกรที่ปลูกข้าว อย่าเผาตอซังข้าวโดยเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้เกิดมลพิษ ฝุ่นPM 2.5 และฝุ่นควันยังสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง ขอให้เกษตรกรไถกลบ เป็นการปรับปรุงดิน หรือนำฟางข้าว ไปคลุมพื้นดินหรือโดยรอบต้นไม้ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นและลดการสูญเสียน้ำได้ อีกทั้งยังมีเกษตรกรใช้รถเกี่ยวอัดฟ่อนหญ้าหรือฟางข้าว ก็สามารถนำไปจำหน่ายสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย ทั้งนี้ทางศูนย์ฯ ได้ทำแนวกันไฟโดยรอบศูนย์ฯ เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟจากด้านในลามออกไปด้านนอก และป้องกันไฟจากด้านนอกเข้ามาด้านใน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวอาจทำให้เกิดไฟไหม้ป่าได้

ถนอมศักดิ์ หนูนุ่ม/ จ.ตรัง