วันที่ 22 มีนาคม 2567 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก., พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย, พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ, พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ รอง ผบช.ก, เจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคบ. โดยการสั่งการของ พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.อนุวัฒน์ รักษ์เจริญ, พ.ต.อ.ชัฏฐ นากแก้ว, พ.ต.อ.ปัญญา กล้าประเสริฐ รอง ผบก.ปคบ., พ.ต.อ.วีระพงษ์ คล้ายทอง ผกก.4 บก.ปคบ., สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดย นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภก.วีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา, ภก.หญิงอรัญญา เทพพิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียนและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ (ศรป.) ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติกรณีทลายแหล่งผลิตและจำหน่ายเครื่องสำอางผสมเสตียรอยด์ (เบื้องต้นพบใช้สารตั้งต้นเป็นยาแผนปัจจุบันที่เป็นสเตียรอยด์) ตรวจยึดของกลาง 18 รายการ มูลค่ากว่า 2,000,000 บาท
พฤติการณ์กล่าวคือ สืบเนื่องจากปัจจุบัน ผู้บริโภคมีความนิยมซื้อเครื่องสำอางผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อหวังผลลัพธ์ให้ผิวขาวกระจ่างใส และรักษาฝ้า แต่ปรากฏว่าเมื่อนำมาใช้แล้วเกิดอาการแพ้ ผิวหน้าอักเสบ และเกิดฝ้าถาวรมากขึ้น กองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค จึงมีมาตรการในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐานและผสมสารต้องห้ามอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการนำสารต้องห้ามผสมในการผลิตเครื่องสำอาง อาทิ เช่น ปรอท สารโฮโดรควินิน กรดเรโนเทอิก และสเตียรอยด์ ซึ่งหากใช้แล้วอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ ผิวบางลง ผิวหน้าดำ เกิดเป็นฝ้าถาวร เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนัง โดยเฉพาะสารไฮโดรควิโนนอาจดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถกระตุ้นให้ร่างกายมีอาการสั่นหรือเกิดภาวะลมชักหรือกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้รับแจ้งเบาะแสจากประชาชนว่า มีสถานที่ลักลอบผลิตเครื่องสำอางโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงทำการสืบสวนหาข่าวจนทราบถึงสถานที่ลักลอบผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผสมสารต้องห้าม