HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

ขบวนแห่เกวียนผ้าพระบาทประเพณีสงกรานต์โบราณ 3 วัด คือ วัดตะปอนน้อย วัดตะปอนใหญ่ และ วัดเกวียนหัก

นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานเปิดงานมกาสงกรานต์วัดตะปอนน้อย อ.ขลุง กล่าวถึงวัตถุประสงค์ว่า การจัดงานมหาสงกรานต์ตะปอน เป็นการนำเสนอวิถีชีวิตชุมชนชาวตะปอน อำเภอขลุง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่ต้องห้ามพลาด โดยงานจะมีไปจนถึงวันที่ 17 เมษายน สิ้นสุดงานในการชักเย่อเกวียนพระบาท อิ่มอร่อยอาหารพื้นเมือง ที่ชาวบ้านนำมาร่วมงาน

ประเพณีชักเย่อเกวียนพระบาท เป็นประเพณีดั้งเดิมเป็นของหมู่บ้านตะปอนน้อย ต.ตะปอน อ.ขลุง มีการทำพระบาทจำลองด้วยผ้ากว้าง 5 ศอก ยาว 21 ศอก ประกอบไปด้วยรอยพระบาท 4 รอย (รอยที่ 1 เป็นรอยของ “พระกุตสันโธ” รอยที่ 2 เล็กลงมาเป็นรอยของ “พระโคนาดม” รอยที่ 3 เป็นรอยของ “พระกัสสปะ” และรอยที่ 4 เป็นรอยเล็กที่สุดเป็นรอยของ “พระพุทธโคดม”(พระพุทธเจ้า)) ทั้งนี้รอยพระบาท 4 รอย ซ้อนกันอยู่บนผ้าผืนเดียว(ผ้านำมาจากวัดช้างไห้ จ.ปัตตานี) คนในสมัยก่อนเชื่อว่ารอยพระบาทนี้สามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆได้ ปีใดเกิดภัยธรรมชาติ ข้าวยากหมากแพงหรือมีโรคระบาดก็จะนำพระบาทนี้ใส่เกวียนประดับตกแต่งไปแห่แหน มีการตีกลอง ฆ้อง โหม่ง ดังสนั่นไปทั้งหมู่บ้าน เมื่อชาวบ้านเห็นขบวนแห่ผ่านมาก็ยกมือสาธุด้วยความปิติยินดี นำพวงมาลัย ดอกไม้ ข้าวสารมาถวาย ภายหลังจากที่มีพิธีแห่ปัญหาที่ชาวบ้านประสบก็บรรเทาเบาบางลง ชาวบ้านเลื่อมใสศรัทธารอยพระพุทธบาทกันมากจึงให้มีการสืบทอดประเพณีติดต่อกันมากทุกปี ภายหลังเปลี่ยนจากการแห่เกวียนพระบาทมาเป็นการชักเย่อแทน

โดยถือเอาวันสำคัญคือหลังวันสงกรานต์ประมาณ วันที่ 13 เมษายน ของทุกปี จึงอัญเชิญผู้พระบาทออกจากพระอุโบสถเก่ากว่า 400 ปี เพื่อนำประดิษฐานขึ้นบนเกวียนแแล้วแห่ไปตามหมู่บ้านจากนั้นก็มาชักคะเย่อเกวียนพระบาทผ้า โดยแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ชาย-หญิง อยู่คนละข้าง นำเชือกผูกติดกับเกวียนขณะที่ 2 ฝ่ายออกแรงดึงเชือก คนตีกลองที่อยู่บนเกวียนจะตีกลองรัวจนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งชนะ ใครชนะก็ถือว่าลากพระบาทได้ หลังจากวันสงกรานต์ชาวบ้านจะนำรอยพระบาทไปบำเพ็ญตามทางแยกเข้าหมู่บ้านต่างๆ

 

สมเศียรโชติสนิท ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดจันทบุรี