HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

ธรรมนัสลงพื้นที่จ.สมุทรสงคราม แก้ปัญหาปลาหมอสีคางดำ

เมื่อ วันที่ 6 พฤษภาคม 2567 นายธรรมนัส พรมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อม นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา ต.แพรกหนามแดง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เพื่อรับฟังปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ซึ่งเป็นเอเลี่ยนสเปชี่ ทำลายล้างสัตว์น้ำตามธรรมชาติใน จ.สมุทรสงคราม โดยมีนายศิริศักดิ์ ศิริมังคล ผู้ว่าฯสมุทรสงคราม, น.ส.กาญจน์สุดา ปานะสุทธะ นายก อบจ.สมุทรสงคราม พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับ

นายศิริศักดิ์ กล่าวว่า จังหวัดสมุทรสงคราม มีพื้นที่ 416.7 ตารางกิโลเมตร หรือ 260,442 ไร่ พื้นที่เกษตรกรรม 176.89 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 67.61 ของพื้นที่จังหวัด พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด ได้แก่ มะพร้าวผล มะพร้าวอ่อน มะพร้าวตาล ส้มโอ สิ้นจี่ เกลือทะเล สัตว์เศรษฐกิจ ได้แก่ สุกร ไก่ไข่ ไก่พื้นเมือง โคเนื้อและแพะ สัตว์น้ำเศรษฐกิจ ได้แก่ หอยแครง ปลากะพงขาว ปลาสลิดและกุ้งทะเล นโยบายของจังหวัดสมุทรสงคราม มีเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดให้เป็น “เมืองแห่งความสุข อาหารปลอดภัย/ท่องเที่ยวหลากหลาย ใส่ใจ สิ่งแวดล้อม” โดยมีภารกิจในการพัฒนาด้านการเกษตร กำหนดเป็น ประเด็นการพัฒนาจังหวัด เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ โดยใช้อัตลักษณ์ของจังหวัด และส่งเสริมสินค้าเกษตร ประมงปลอดภัย ที่ผ่านมาได้ป้องกันและแก้ไขการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ โดยดำเนินงาน 2 รูป แบบ คือ การแก้โขปัญหาการแพรระบาดในแห่ลงน้ำปิดด้วยการปล่อยปลากะพงในบ่อเลี้ยง การกำจัดและนำมาใช้ประโยชน์ การสนับสนุนกากชาให้กับเกษรกร และการประชาสัมพันธ์การรับซื้อของรัฐบาล รวมทั้งการแก้โขปัญหาการแพร่ระบาดในแหลงน้ำเปิด ด้วยการปล่อยพันธุ์สัตว์ผู้ล่า และกิจกรรมลงแขกลงคลองของกรมการปกครองในการรักษาดูแลสิ่งแวลล้อมลำคลองตามธรรมชาติของจังหวัด จึงเพิ่มกิจกรรมการลงแขกลงคลองกำจัดปลาหมอสีคางดำ ทั้งการหว่านแห ลากอวน เพื่อลดการแพร่ระบาดในระบบนิเวศน์ให้ลดลง

จากนั้นชาวบ้านในพื้นที่ได้แจ้งปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ เช่น ขณะนี้ปลาหมอสีคางดำ ระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติจากจังหวัดสมุทรสงคราม ไปเพชรบุรี และขึ้นไปถึงจังหวัดราชบุรีแล้ว ต้องรีบกำจัดให้หมดไปจากแหล่งน้ำธรรมชาติโดยเร็ว โดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จึงเดินทางกลับ
—นายธรรมนัส กล่าวว่า ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมากว่า 18 ปี แล้ว ที่ภาครัฐไม่ได้จริงจังในการแก้ไข ซึ่งขณะนี้ปลาหมอสีคางดำแพร่ระบาดไปหลายภาค ลงไปจังหวัดสุราษฎธานี ขึ้นไปถึงนครสวรรค์ ออกไปยังจังหวัดจันทบุรี ซึ่งเรื่องนี้ตนได้สั่งการให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มาเป็นประธานในการแก้ไขปัญหา จะนำเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติในการแก้ไขปัญหาปลาหมอสีคางดำ โดยมีการตั้งคณะกรรมการที่มีทั้งภาครัฐคือกรมประมง, นักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่างๆ และพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยตั้งเป้ากำจัดปลาหมอสีคางดำอย่างเดียว เพราะอยู่ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ซึ่งถือว่าเป็นเอเลี่ยนสปีชี ทำลายสัตว์น้ำพื้นถิ่นจนหมด โดยนอกจากจะแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่แล้ว ยังจะแต่งตั้งคณะกรรมการชุดย่อยแต่ละจังหวัดด้วย และจะรีบประชุมกำหนดกรอบเวลาระยะสั้น ระยะยาว ต่อไป ส่วนเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจะให้กรมส่งเสริมการเกษตรมาประเมินความเสียหาย เพื่อให้ภาครัฐไปเยียวยา โดยจะทำให้เป็นรูปธรรมแก้ไขในระยะสั้นๆ
นายธรรมนัส กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ โดย กรมประมง มีนโยบายให้การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอสีคงดำในพื้นที่สมุทรสงครามมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้มีการจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ ดังนี้ 1) มาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด และมีการพัฒนาเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดปลาหมอสีคางดำ 2) มาตรการที่ 2 กำจัดปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยการปล่อยปลาผู้ล่าอย่างต่อเนื่อง ในปี 2567 ปล่อยปลาผู้ล่า 154,000 ตัว 3) มาตรการที่ 3 การนำปลาหมอสีคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ ส่งโรงงานเพื่อผลิตปลาป่น นำไปเป็นเหยื่อสำหรับเลี้ยงปลากะพงขาว และทำน้ำหมักชีวภาพ 4) มาตรการที่ 4 การสำรวจและเฝ้าระวังการแพร่กระจายประชากรปลาหมอสีคางดำในพื้นที่เขตกันชน หน่วยงานกรมประมงลงพื้นที่สำรวจจังหวัดที่มีลำน้ำเชื่อมต่อกับจังหวัดที่มีการแพร่ระบาดเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง 5) มาตรการที่ 5 สร้างความรู้ ความตระหนัก และการมีส่วนร่วมในการกำจัดปลาหมอสีคางดำ เพื่อป้องกันและพร้อมรับมือการแพร่ระบาด หาแนวทางป้องกันพร้อมทั้งส่งเสริมและกระตุ้นให้จับปลาหมอสีคางดำให้นำมาใช้ประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ และ 6) มาตรการที่ 6 การติดตาม ประเมินผล และบริหารโครงการ
นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวย้ำว่า “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีความเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกรที่ได้ผลกระทบดังกล่าว และจะเร่งสำรวจความเสียหายตลอดจนการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรอย่างเต็มความสามารถ รวมถึงจะดำเนินมาตรการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างเด็ดขาด จะไม่มีการส่งเสริมให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจ”

นพพร บุญทนาวงศ์ จ.สมุทรสงคราม