HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

คณะนักวิจัย วิทย์เกษตรฯ ม.มหิดล ร่วม กับ ไบโอเทค สวทช. และ วิศวกรรมเคมีจุฬาฯ เผยผลการวิจัยความสำคัญในการปรับปรุงการปลูกข้าวภายใต้สภาวะภัยแล้ง

ผู้ศาสตราจารย์ ดร. สุรวุฒน์ อยู่ยงเวชช์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การเกษตร (หลักสูตรวิทยาศาสตร์การเกษตร) มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตกาญจนบุรี ให้ข้อมูลจากงานวิจัย ว่า “การเรียนรู้กลไกการพัฒนาพืชอาหารในมิติของความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม จะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการช่วยปรับสภาวะสมดุลของพืชให้มีผลผลิตดีขึ้นในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน” เช่น การเตรียมพร้อมให้พืชเผชิญภาวะแปรปรวนจากภาวะโลกรวนและภาวะโลกร้อน ตัวอย่างเช่นการเตรียมกลไกภายในต้นพืชให้ทนต่อการขาดน้ำร่วมกับยังคงรักษาผลผลิตเอาไว้ได้

ซึ่งแนวทางนี้อาจจะเป็นจิ๊กซอร์สำคัญตัวหนึ่ง ที่มีส่วนช่วยพัฒนาพืชอาหารที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชหลักอย่างข้าว ทั้งนี้จากความร่วมมือในการเรียนรู้ร่วมกันของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยงานนี้ได้รับการผลักดันจากผู้ทรงคุณวุฒิในทีมวิจัยประกอบด้วย ศาสตราจารย์ดร. เหมือนเดือน พิศาลพงศ์ และ ดร.สุริยันตร์ ฉะอุ่ม และ ดร.รุจิรา ทิศารัมย์ ฯลฯ ซึ่งการวิจัยนี้ ได้ค้นพบกลไกหนึ่งที่เป็นเงื่อนไขในการปรับปรุงการผลิตข้าวเอาไว้ได้ภายใต้สภาวะขาดน้ำ ด้วยการปลูกพืชร่วมกับเชื้อราไมคอร์ไรซาบางชนิด (AMF; arbuscular mycorrhiza fungi)

ที่เป็นการอิงอาศัยแบบเกื้อกูล (symbiosis) สามารถส่งเสริมการเจริญให้ต้นพืช โดย AMFจะช่วยส่งเสริมธาตุอาหารหลักฟอสฟอรัสให้กับต้นข้าวนอกจากนี้ยังกระตุ้นการสะสมอะมิโนโพรลีนและน้ำตาลในระดับเซลล์ เพื่อช่วยรักษาแรงดันเต่งของเซลล์ด้วยศักย์ออสโมติก (osmotic potential) โดยเฉพาะเมื่อต้นข้าวกระทบกับสภาวะขาดน้ำ (ระบบปลูกระดับกระถางภายใต้โรงเรือนควบคุมสภาวะแวดล้อม) ซึ่งกลไกนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญสำหรับการวิจัยต่อยอดอื่น ๆ ที่จะถูกพัฒนาขึ้นภายใต้เงื่อนไขการรักษาผลผลิตข้าวเมื่อกระทบต่อสภาวะแล้งในมิติต่าง ๆ ของประเทศไทยในอนาคตโดยผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมและประยุกต์ใช้องค์ความรู้ได้จากบทความฉบับเต็มในวารสาร
Scientific Report 2023; 13:5999. https://doi.org/10.1038/s41598-023-33304-x

วุฒิเดช ก้อนทองคำ