HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

AIS จับมือ ศึกษาธิการจังหวัดปราจีนบุรี ขยายผล หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. และ สช. ปักหมุดปี 2024 เข้าถึงนักเรียนกว่า 290 โรงเรียนทั่วจังหวัดปราจีนบุรี สร้างพลเมืองดิจิทัล รู้ทันภัยไซเบอร์

นายสมภพ กิตติวิรุฬห์วัฒน์ รักษาการหัวหน้างานปฏิบัติการ ภูมิภาค ภาคตะวันออก AIS กล่าวว่า
“AIS อุ่นใจไซเบอร์ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของ AIS ที่ต้องการใช้หลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ สร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายและผลกระทบจากการใช้งาน การพัฒนาโซลูชันและบริการดิจิทัลเพื่อปกป้องและส่งเสริมการใช้งานอย่างปลอดภัย และการสร้างองค์ความรู้เพื่อส่งเสริมความฉลาดและทักษะให้กับพลเมืองดิจิทัลของไทย เพราะถ้าอ้างอิงตามผลสำรวจ สุขภาวะดิจิทัลของคนไทย ปี 2566 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ “พื้นฐาน” แต่เมื่อพิจารณาลงลึกในรายละเอียดของภาคตะวันออก พบว่า ดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิทัล ปี 2566 ของชาวจังหวัดปราจีนบุรี อยู่ใน “ระดับต้องพัฒนา”

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจังหวัดปราจีนบุรีจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้ดิจิทัลให้กับประชาชนเพิ่มขึ้น เนื่องจากระดับต้องพัฒนาเป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการใช้ดิจิทัลได้อย่างไม่เหมาะสม และกลุ่มที่ต้องได้รับการพัฒนาเป็นกลุ่มแรก คือ เด็กนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ป.4 – ม.6

ด้วยเหตุนี้ ภารกิจในการทำให้พลเมืองดิจิทัล “รู้ทันภัยไซเบอร์” จึงเป็นภารกิจสำคัญที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาร่วมมือกัน ติดตั้งทักษะการรู้เท่าทันให้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน กลุ่มเป้าหมายสำคัญที่จะเติบโตไปเป็นพลเมืองดิจิทัลที่มีคุณภาพ ให้สามารถใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัย

ด้าน ซิสเตอร์ ดร.อัจฉรา สุขพิบูลย์ ประธานคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน
จ.ปราจีนบุรี กล่าวว่า “บทบาทของ สช. มีภารกิจในการขับเคลื่อนการศึกษาเอกชน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ โดยนโยบายของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่มอบหมายไว้ คือ “เรียนดี มีความสุข” ซึ่งจะต้องมีความสมดุล ทั้งการเรียนด้านวิชาการและการมีทักษะชีวิตที่ดี เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาไปด้วยกัน”

โดยปีนี้ สช.ปราจีนบุรี พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลโดยตรงต่อการศึกษา โดยเฉพาะความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีที่เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่จะต้องใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์ตลอดเวลา ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการใช้งาน และอาจตกเป็นเหยื่อของภัยคุกคามทางไซเบอร์ ดังนั้นเราจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี ให้นักเรียนมีองค์ความรู้ในการรับข้อมูลข่าวสารบนโลกออนไลน์ และรู้จักหลีกเลี่ยงภัยไซเบอร์ต่างๆ ที่เข้ามาหลากหลายรูปแบบ” ซึ่งการจัดอบรมเพื่อการเรียนรู้และการสอนหลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดปราจีนบุรี ครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทางการศึกษาภายใต้ศึกษาธิการจังหวัดปราจีนบุรี ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานทางการศึกษาในสังกัด สพฐ. หรือ สังกัด สช. ที่ส่งครูและบุคลากรทางการศึกษาเข้ารับการอบรมฯ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกท่านจะนำหลักสูตร “อุ่นใจไซเบอร์” ไปใช้ให้เกิดผลแก่ผู้เรียนอย่างเป็นรูปธรรม อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเยาวชนในจังหวัดปราจีนบุรีต่อไป

ด้านนางสาว ภณิษา พรมโน ผู้อำนวยการกลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผล ศึกษาธิการจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า “การก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี ถือเป็นภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการ ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการศึกษาอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย

ซึ่งหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์สามารถตอบโจทย์เป้าหมายดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในครั้งนี้ที่เราร่วมกันทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการจัดอบรมเพื่อการเรียนรู้และการสอนหลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ สำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาจังหวัดปราจีนบุรีขึ้น เพื่อให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาได้นำหลักสูตรฯ ไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียรรู้และพัฒนานักเรียนรวมถึงเยาวชนของเราผ่านการเรียนการสอนที่หลากหลาย อาทิ เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กิจกรรมชุมนุม กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กิจกรรมแนะแนว หรือรูปแบบการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับโครงสร้างวิธีการทำงานของแต่ละสถาบันการศึกษาให้มีความรู้เท่าทันภัยไซเบอร์ที่แฝงมากับการใช้งานอินเทอร์เน็ต

การอบรมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมอบรมประกอบด้วย
ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษานิเทศก์ บุคลากรทางการศึกษา และครูจากสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน จำนวนรวมกว่า 400 คน แบ่งการเรียนออกเป็น 2 แบบ คือ แบบ Online อบรมผ่าน Microsoft Team และแบบ Onsite อบรม ณ ห้องประชุมบ้านสวนมารีย์ โรงเรียนมารีวิทยา จ.ปราจีนบุรี โดยเรามีเป้าหมายที่จะขยายผลผลักดันหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ให้สามารถเข้าถึงนักเรียนในทุกระดับชั้นกว่า 290 โรงเรียนทั่วจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีภูมิคุ้มกัน ไม่ตกเป็นเหยื่อภัยไซเบอร์ และเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีและมีคุณภาพ

นายสมภพ กล่าวทิ้งท้ายว่า “การทำงานร่วมกับศึกษาธิการจังหวัดปราจีนบุรีในการขยายหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ ไปยังโรงเรียนสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) และโรงเรียนสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช) ในครั้งนี้ จะเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะทำให้กลุ่มนักเรียนในจังหวัดปราจีนบุรีเข้าถึงเนื้อหาหลักสูตรด้านดิจิทัล เพื่อสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยมีภูมิคุ้มกัน ไม่ตกเป็นเหยื่อภัยไซเบอร์ และเป็นพลเมืองดิจิทัลที่ดีและมีคุณภาพ ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลเราขอเป็นศูนย์กลางในการสร้างและส่งเสริมการใช้งานที่ถูกต้อง เหมาะสม และมีความปลอดภัยให้กับลูกค้าและคนไทยทุกกลุ่มต่อไป”

วิศาล แสงเจริญ
ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดชลบุรี