HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

จังหวัดฉะเชิงเทรา ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) แนวทางการดำเนินงานโครงการปรับปรุงระบบชลประทาน เจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ระหว่าง กรมชลประทาน กับ คณะกรรมการลุ่มน้ำบางปะกง

วันที่ 5 มิถุนายน 2567 ที่ ศาลากลางจังหวัดฉะเชิงเทรา นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นประธานการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน (MOU) แนวทางการดำเนินงานโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่างระหว่างกรมชลประทาน กับคณะกรรมการลุ่มน้ำบางปะกง โดยมีนายสิริพล รักษนาเวศ ผู้อำนวยการกองพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลาง ผู้แทน กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU)

การจัดทำบันทึกข้อตกลงระหว่าง กรมชลประทาน กับ คณะกรรมการลุ่มน้ำบางปะกง ในวันนี้ เนื่องจากเป็นการลดผลกระทบจากการที่ กรมชลประทาน มีแผนการดำเนินการก่อสร้างโครงการปรับปรุง ระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง และการเพิ่มศักยภาพสถานีสูบน้ำทั้งสองฝั่งแม่น้ำ เพื่อให้ การบริหารจัดการ มีแนวทางที่เหมาะสม จึงได้เสนอแนวทางการดำเนินการด้วยความเห็นร่วมกันของผู้ร่วมลง นามในบันทึกข้อตกลงร่วมกันทั้งสองฝ่าย

โดยมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้ 1. เมื่อได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ตอนล่างแล้วเสร็จ การสูบระบายน้ำในช่วงฤดูฝนทุกสถานีตลอดแนวฝั่งขวาของแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำ บางปะกงจะไม่เดินเครื่องสูบน้ำจนเกิดผลกระทบต่อพื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกง และ หากคณะกรรมการลุ่มน้ำบางปะกงมีความจำเป็นในการดำเนินการอย่างใดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ ในข้อ 1 ของกรมชลประทานในครั้งนี้เพื่อประโยชน์โดยส่วนรวมของประชาชนในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง กรมชลประทานจะพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำบางปะกงเสนอต่อไป

2. ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่ง กรมชลประทาน ได้รับงบประมาณในการศึกษา โครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในแม่น้ำนครนายก และลำน้ำสาขาที่เกี่ยวข้อง แนวทางการศึกษาเป็นการลดผลกระทบพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำนครนายกที่เคยเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี โดยกำหนดมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำนครนายก โดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก บริเวณจุดบรรจบแม่น้ำ นครนายกและแม่น้ำปราจีนบุรี บริเวณอำเภอบ้านสร้าง พื้นที่ผลกระทบน้ำท่วมประมาณ 19,500 ไร่

3.ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 กรมชลประทานได้จัดตั้งแผนการศึกษา โครงการศึกษาความเหมาะสมการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในแม่น้ำบางปะกง และลำน้ำสาขาที่เกี่ยวข้องแนวทางการศึกษาเป็นการลดผลกระทบพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำ บางปะกงที่เคยเกิดน้ำท่วม เป็นประจำทุกปี โดยกำหนดมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้าง พิจารณาสร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ทั้งระบบลุ่มน้ำ ตั้งแต่แม่น้ำนครนายกบรรจบแม่น้ำปราจีนบุรี จนมาเป็นแม่น้ำบางปะกง โดยคำนวณความเหมาะสมในการบริหารจัดการสถานีสูบน้ำตลอดแนวสองฝั่งแม่น้ำ เพื่อให้มีคู่มือในการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับสถานการณ์น้ำในภาวะต่าง ๆให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่สองฝั่ง แม่น้ำน้อยที่สุด รวมทั้งการใช้มาตรการการบริหารจัดการพื้นที่ลุ่มต่ำ (แก้มลิง) สองฝั่งแม่น้ำบางปะกงและมาตรการไม่ใช้สิ่งก่อสร้างอื่น ๆ หรือการบรรเทาปัญหา ด้วยการกำหนดแนวทางใช้สิ่งก่อสร้าง เช่น การก่อสร้างคันกั้นน้ำเพื่อลดผลกระทบในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำบางปะกงโดยเฉพาะพื้นที่น้ำท่วม ซ้ำซาก บริเวณจุดบรรจบแม่น้ำสาขาต่าง ๆ และแม่น้ำปราจีนบุรีบรรจบแม่น้ำนครนายก บริเวณอำเภอบ้านสร้าง นอกจากการก่อสร้างคันกั้นน้ำแล้ว ต้องก่อสร้างแนวปิดล้อมชุมชน หรือก่อสร้างถนนเลียบแนวแม่น้ำเพื่อเป็นคันกั้นน้ำริมตลิ่ง เป็นต้น

 

อาษา/ปรีญาภรณ์/ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา