HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

AIS จับมือ วิทยาลัยเทคนิค สัตหีบ ส่งเสริมองค์ความรู้ เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถของบุคลากรครูและนักศึกษา ผ่านเทคโนโลยี 5G เตรียมความพร้อมสู่การผลักดันแรงงานในพื้นที่ EEC

​นายสมภพ กิตติวิรุฬห์วัฒน รักษาการ หัวหน้างานปฏิบัติการภูมิภาค ภาคตะวันออก เอไอเอส กล่าวว่า “AIS มีเป้าหมายในการนำเทคโนโลยี 5G มาพัฒนาเพื่อยกระดับประสบการณ์ดิจิทัล และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของทุกภาคส่วนในทุกมิติโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการศึกษา ที่นับว่าเป็นรากฐานสำคัญต่อการเติบโตของประเทศ ในอนาคต จึงทำให้ที่ผ่านมา AIS ทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำทั่วประเทศเพื่อเป็นการส่งต่อองค์ความรู้ และนำศักยภาพด้านดิจิทัลเทคโนโลยีของเราขยายผลให้เกิดการผลักดันแรงงานสู่ตลาดอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม ในพื้นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งปัจจุบันได้ขยายเครือข่าย 5G ครอบคลุมแล้ว 100% ในบริเวณที่มีการใช้งาน รวมถึงเริ่มทดลอง ทดสอบ 5G Use case แล้วตั้งแต่ปี 62 เป็นต้นมา”

​โดยครั้งนี้เราได้ร่วมมือกับ วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ในการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้สร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยี 5G บ่มเพาะขีดความสามารถของนักศึกษา บุคลากรครูของวิทยาลัยฯ
ผ่านโครงการทางวิชาการที่ AIS ได้จัดขึ้นให้ พร้อมแบ่งปันองค์ความรู้เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมที่จะถ่ายทอด ส่งต่อองค์ความรู้ให้กับนักศึกษา และ สถานประกอบการรุ่นถัดไปได้ในอนาคต​

​ทางด้านของดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานประสานงานด้านการพัฒนาบุคลากร ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก EEC กล่าวว่า “อีอีซีเป็นเขตการลงทุนของอุตสาหกรรมสมัยใหม่หรือ อุตสาหกรรม 4.0 เราจำเป็นต้องปรับโครงสร้างการพัฒนาบุคลากร และการศึกษาใหม่ ให้สอดรับกับความก้าวของโลกที่เปลี่ยนไป เปลี่ยนจากระบบเดิม Supply Push คือใช้สถาบันการศึกษาเป็นตัวตั้ง และสอนตามหลักสูตรที่ออกแบบโดยสถาบันการศึกษา โดยไม่รู้ว่าเด็กที่จบออกไปจะสอดคล้องกับความต้องการของอุตสาหกรรมหรือเปล่า เป็น demand driven คือสำรวจความต้องการของอุตสาหกรรมก่อน แล้วผลิตบุคลากรให้ตรงกับความต้องการ เป็นการจัดการเรียนการสอนที่จับคู่การศึกษากับภาคอุตสาหกรรม
แบบ univertory คือ university+factory สร้างประสบการณ์ใหม่ ปรับระบบหลักสูตรให้เป็นแบบโมดูล สนับสนุนให้เกิดระบบโรงเรียนในโรงงาน หรือ โรงงานในโรงเรียน เช่นการเชิญ บริษัท เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SNC มาสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่อีอีซี โดยภาคอุตสาหกรรมลงทุนสร้างโรงงานในโรงเรียน สร้างหลักสูตรในเชิงสมรรถนะ ยกระดับทักษะและพัฒนาความรู้ไปพร้อมกัน เรามีระบบ EEC network center ทำระบบเครดิตแบงก์ นักศึกษาสามารถนำการฝึกอบรมระยะสั้นมาเทียบเป็นหน่วยกิตได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเขาเรียนจบ ปวช.จะเรียนต่อระดับปวส.-ปริญญาตรี
ก็สามารถนำประสบการณ์ในสายงานมาเทียบหน่วยกิตแล้วเรียนอีกระยะหนึ่งก็จบปริญญาตรีได้
เป็นแนวทางใหม่ที่เราพัฒนาขึ้นมา”

ทางด้านของดร.อรทัย โยธินรุ่งเรือง สุดสงวน ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ กล่าวว่า
วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ มีภารกิจหรือวิสัยทัศน์ที่จะเป็นผู้นำในการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา
สมรรถนะสูงอย่างยั่งยืนเพื่อเพิ่มโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงระบบการเรียนรู้วิชาชีพ
ด้วยรูปแบบวิธีการที่ยืดหยุ่น หลากหลาย ตอบสนองต่อความต้องการในการเรียนรู้และพัฒนาอาชีพของคนทุกช่วงวัย มีภาคีเครือข่ายพันธมิตรร่วมกันในการจัดการศึกษา ในรูปแบบที่พวกเราเรียกว่า “โครงการสัตหีบโมเดล” ซึ่ง EEC HDC ได้นำไปพัฒนาเป็น EEC Model Type A ในปัจจุบัน โดยจะมีการร่วมพัฒนาหลักสูตร คัดเลือกผู้เรียน และวัดผลประเมินร่วมกัน โดยสถานประกอบการจะให้การสนับสนุนทุนเบี้ยเลี้ยงเป็นทุนการศึกษาในระหว่างการเรียน ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาสถานประกอบการจะรับผู้ผ่านเกณฑ์บรรจุเข้าทำงานทันทีในสถานประกอบการ และในวันนี้ทางวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ต้องขอขอบคุณ AIS ทีได้เข้ามาติดตั้งอุปกรณ์ 5G และสนับสนุนทุนพัฒนาการศึกษาให้กับวิทยาลัยฯ เพื่อจะได้นำไปพัฒนาการจัดการเรียนสอนต่อไป ทั้งยังจะร่วมพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ ซึ่งเป็นการพัฒนากระบวนส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนให้มีศักยภาพ และยกระดับองค์ความรู้ ให้แก่ครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนนักศึกษาของวิทยาลัย เพื่อพัฒนาสู่กำลังคนอาชีวศึกษาสมรรถนะสูงอย่างเป็นระบบต่อไป

นายสมภพ กล่าวในช่วงท้ายว่า “AIS เรายังคงเดินหน้าตามวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัล และ มีเป้าหมายการทำงานที่ชัดเจน ต่อการนำศักยภาพของ 5G มาสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของโครงข่าย พร้อมขับเคลื่อนมาตรฐาน Autonomous Network
ที่ล้ำหน้าระดับโลก รวมถึงยกระดับประสบการณ์จากโครงข่าย AIS ให้แก่ลูกค้าและภาคอุตสาหกรรม พร้อมก้าวสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีโทรคมนาคมอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co อย่างเต็มรูปแบบ ทำให้วันนี้โครงสร้างพื้นฐานหรือ Digital Infrastructure มีความสมบูรณ์ พร้อมให้บริการกับภาคอุตสาหกรรม โดยยึดแนวทางการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่หลากหลายเพื่อสร้างความสมบูรณ์ของ Digital Ecosystem เพราะเราเชื่อว่าความสามารถและพลังของพาร์ทเนอร์จะช่วยส่งเสริมธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นได้แบบทวีคูณ”

 

 

วิศาล แสงเจริญ
ผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดชลบุรี