HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

“พัชรวาท” ยิ้มรับวันพะยูนแห่งชาติ หลังทราบพะยูนไทย – หญ้าทะเลสมบูรณ์ขึ้น

พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์ สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเนื่องในวันสัปดาห์พะยูนแห่งชาติ ประจำปี 2567 ว่า ทุกวันที่ 17 สิงหาคมของทุกปี กำหนดให้เป็นวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ และเป็นการระลึกถึงการจากไปครบรอบ 5 ปีของลูกพะยูนน้อยมาเรียมและยามีล รวมถึงสร้างความตระหนักในการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลและแหล่งที่อยู่อาศัยของพะยูนให้สมบูรณ์ โดยวันนี้ (17 ส.ค. 67) ตนได้มอบหมายให้นายโกเมนทร์ ทีฆธนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่จังหวัดตรัง เพื่อเป็นประธานเปิดงานสัปดาห์วันพะยูนแห่งชาติ ประจำปี 2567 พร้อมร่วมพูดคุยและรับฟังปัญหาจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ สำหรับ “พะยูน” ถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าพ.ศ. 2562 ที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันดูแลอย่างจริงจัง ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ทำงานเพื่อแก้ไขและฟื้นฟูเพิ่มจำนวนพะยูนในท้องทะเลไทยมาโดยตลอด ซึ่งภายหลังจากที่เข้ารับตำแหน่ง ตนพร้อมคณะได้มีโอกาสลงพื้นที่มายังบ้านเกาะมุกด์ จังหวัดตรัง เพื่อติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาหญ้าทะเลเสื่อมโทรม พร้อมรับฟังปัญหาของชาวบ้าน และมอบหมายให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จัดตั้งวอร์รูมแก้ไขปัญหาพะยูน 11 จุดเสี่ยง ในพื้นที่ 3 จังหวัดทะเลอันดามัน พร้อมนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการสำรวจประชากรพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก จากการรายงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่าปัจจุบันพะยูนมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 273 ตัว เป็น 280 ตัว ซึ่งการเพิ่มขึ้นของพะยูนนับเป็นความสำเร็จอย่างยิ่ง และได้มีการสานต่อแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติระยะที่ 2 ด้วยการเพิ่มโครงการศึกษาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เพื่อสร้างแรงจูงใจในการอนุรักษ์พะยูนและหญ้าทะเล อีกทั้งใช้กลไกคณะกรรมการระดับจังหวัด เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผน การติดตามสถานภาพเฝ้าระวัง ศึกษาพฤติกรรมและถิ่นอาศัยของสัตว์ทะเลหายากอีกด้วย ทั้งนี้ การอนุรักษ์พะยูนนั้น สิ่งสำคัญที่ควรคำนึง คือ การสร้างการเรียนรู้ ความเข้าใจ และเห็นถึงความสำคัญของพะยูนรวมไปถึงระบบนิเวศหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแนวทางที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือในการอนุรักษ์ โดยเริ่มต้นจากประชาชนในพื้นที่ ซึ่งพวกเขาเหล่านี้ต่างรักและหวงแหนในทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นอย่างมาก  สุดท้ายนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้พะยูนสูญพันธุ์จากท้องทะเลไทย จึงขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการนำเที่ยว ประชาชน และนักท่องเที่ยวให้ช่วยกันประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในการช่วยกันอนุรักษ์พะยูน รวมถึงประมงชายฝั่งให้งดเดินเรือในแหล่งหญ้าทะเล และหากจำเป็นต้องเดินเรือผ่านแนวเขตหญ้าทะเล และพื้นที่เสี่ยงในการอพยพเคลื่อนย้ายพะยูน ให้ใช้ความเร็วตามที่กำหนด เพื่อความสมบูรณ์ของพะยูนในท้องทะเลไทย และส่งเสริมการประกอบอาชีพของชุมชนชายฝั่งควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ โดยกระทรวง ทส. จะร่วมมือกับทุกฝ่ายดูแลรักษาพะยูนให้คงอยู่คู่กับท้องทะเลไทยสืบไป

 

ด้าน ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยว่า ปัจจุบันทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีปัจจัยที่เป็นภัยคุกคามและส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเล รวมถึงสัตว์ทะเลหายากหลายประการ ทั้งที่เกิดจากภัยธรรมชาติหรือกิจกรรมของมนุษย์ ปัญหาทั้งหมดจำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูให้กลับคืนมา เช่นเดียวกันกับเรื่องราวของพะยูนและแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นระบบนิเวศที่มีความสำคัญเป็นบ้านของสัตว์ทะเลน้อยใหญ่และประชาชนในพื้นที่ หากย้อนกลับไปในช่วงเดือนเมษายนปี 2562 ได้มีเหตุการณ์เกิดขึ้นกับลูกพะยูนน้อยที่ชื่อว่า มาเรียม ได้พัดหลงจากฝูง และได้รับการดูแลเป็นเวลากว่าสามเดือน โดยเจ้าหน้าที่กรม ทช. กรมอุทยานฯ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ รวมถึงจากหลายหน่วยงานทั่วประเทศ แต่ไม่นานมาเรียมก็ตายในวันที่ 17 สิงหาคม 2562 และต่อมาเดือนกรกฎาคมในปีเดียวกัน ได้พบยามีล พะยูนน้อยอีกหนึ่งตัวก็ตายลงเช่นกัน โดยพะยูนน้อยทั้งสองตายจากสาเหตุการพลัดพรากจากพ่อแม่และมีอาการเจ็บป่วย เนื่องจากมีขยะอยู่ในร่างกาย จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ทำให้พะยูนน้อยทั้งสองตัวกลายเป็นขวัญใจของคนไทย ทุกคนต่างตระหนักและหันมาใส่ใจให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พะยูนมากยิ่งขึ้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2562 ได้กำหนดให้วันที่ 17 สิงหาคมของทุกปี เป็นวันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ ที่ผ่านมา กรม ทช. ได้ใช้มาตรการคุ้มครองพื้นที่ทางทะเลเพื่อการอนุรักษ์พะยูนตรัง พร้อมมอบหมายให้หน่วยงานในพื้นที่ประชาสัมพันธ์ อบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พะยูนและแหล่งหญ้าทะเลระดับชุมชน เสริมสร้างรูปแบบวิถีชุมชนแบบผสมผสานการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลให้แก่ประมงชายฝั่งและการท่องเที่ยวแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งการสำรวจจำนวนประชากรพะยูนที่แน่นอน เพื่อนำมาคำนวณพื้นที่อาศัยที่เหมาะสม และจัดทำเขตอนุรักษ์พะยูนต่อไป และล่าสุดในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กรม ทช. ได้พบพะยูนน้อยเกยตื้นมีชีวิต บริเวณเกาะปอดะ ต.อ่าวนาง จ.กระบี่ จึงได้ส่งตัวมารักษาและอนุบาลที่สถาบันทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง โดยมีทีมสัตวแพทย์ เจ้าหน้าที่ และอาสาสมัครให้การดูแลรักษาพะยูนน้อยอย่างใกล้ชิด คอยป้อนนม สารฟื้นฟูและบำรุงร่างกาย รวมถึงยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์เป็นประจำทุกวัน วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติในปีนี้ กรม ทช. ได้จับมือกับจังหวัดตรัง ร่วมด้วยหน่วยงานพันธมิตร จัดกิจกรรมขึ้นภายใต้ชื่อ “สัปดาห์พะยูนแห่งชาติประจำปี 2567 Thailand Dugong & Seagrass Week 2024” และกิจกรรมท่องเที่ยวอาสาทำความสะอาดแหล่งพะยูนและแนวปะการัง โดยตนได้มอบหมายให้นายชิดชนก สุขมงคล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เป็นผู้แทนในการกำกับดูแลการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ร่วมด้วยนายกุศล โชติรัตน์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิทธิโชค จันทร์ย่อง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง คุณปวิตา โตทับเที่ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) หรือ ปุ้มปุ้ย ตลอดจนคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ทส. และทช. รวมถึงผู้แทนจากจังหวัดตรัง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง มูลนิธิอันดามัน บริษัท ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล จำกัด (มหาชน) หรือ ปุ้มปุ้ย และบริษัท เลตรัง ไดฟ์วิ่ง จำกัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน สมาคมชาวประมงพื้นบ้าน อาสาสมัครพิทักษ์ทะเล พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมกิจกรรม ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง

 

ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17 – 19 สิงหาคม 2567 โดยภายในงานได้มีการสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับพะยูน การบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับพะยูน และหญ้าทะเล จากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ทะเลหายาก และสมาคมชาวประมงพื้นบ้าน การนำเสนอผลงานประดิษฐ์ผลงานจากวัสดุเหลือใช้ การแข่งขันกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “การอนุรักษ์พะยูน” การสาธิตการบินสำรวจสัตว์ทะเลหายากด้วยอากาศยานไร้คนขับ (Drone) กิจกรรมในรูปแบบ “Green Event” คือ ลดขยะ งดโฟม และลดบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วทิ้งจำพวก พลาสติกให้ได้มากที่สุด เพื่อสอดรับกับนโยบาย ตรังยั่งยืน ตลอดจนกิจกรรม Active Learning Event ให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างนิทรรศการกับผู้เข้าชมให้เกิดความรู้ความเข้าใจมากยิ่งขึ้น อีกทั้งการจัดนิทรรศการให้ความรู้และแรงบัลดาลใจเรื่องหญ้าทะเลและพะยูนในด้านต่างๆ นิทรรศการที่รวมภาพถ่ายที่รวมความสวยงามของพะยูน ระบบนิเวศหญ้าทะเลและประโยชน์ของหญ้าทะเลต่อสรรพสิ่งต่างๆ ทั้งกับสิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตอื่นๆ และกับมนุษย์จากทั่วโลก กิจกรรม Work shop และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย “ดร.ปิ่นสักก์ กล่าวทิ้งท้าย”

ถนอมศักดิ์  หนูนุ่ม / จ.ตรัง