จังหวัดตราด/วันที่ 26 สิงหาคม 2567 ณ ห้องไพลิน โรงแรมเอวาด้า จ.ตราด สำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) และสมาคมสื่อมวลชนจังหวัดตราด จัดการประชุมโฟกัส กรุ๊ปในหัวข้อ “ปลุกพลังสื่อภาคตะวันออก … แก้ปัญหา บุหรี่-แอลกอฮอล์” โดยมี นายศักดา แซ่เอียว หรือ เซีย การ์ตูนนิสต์ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นผู้ดำเนินรายการ
นายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า สสส.ได้สนับสนุนให้มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะทำงานกับสื่อมวลชนในส่วนกลางและภูมิภาคทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุและสื่อออนไลน์ช่วยกันสร้างการรับรู้ สร้างความตระหนักและรณรงค์กับกลุ่มเป้าหมายทั้ง เด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไปต่อปัญหาและผลกระทบจากการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า แอลกอฮอล์ สิ่งเสพติด การพนันและการพนันออนไลน์ โดยมุ่งเน้นการทำงานเชิงการป้องกันก่อนที่จะเกิดปัญหาต่อสุขภาพ เป็นที่รู้กันว่าบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า แอลกอฮอล์หนีภาษีมักจะลักลอบนำเข้าผ่านจังหวัดต่างๆที่มีพรมแดน ติดกับประเทศเพื่อนบ้านทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออก โดยเฉพาะภาคตะวันออกที่ผ่านมามีการแถลงข่าวการจับกุมการลักลอบนำเข้าบุหรี่ผิดกฎหมายหลายครั้งทั้งที่ จ. สระแก้ว จันทบุรีและตราดโดยเฉพาะอำเภอคลองใหญ่ จ.ตราด วันนี้จึงเป็นเรื่องน่าดีใจที่ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตราดได้ให้ความสำคัญทั้งการรณรงค์และการปราบปรามบุหรี่หนีภาษีและบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง เวทีการประชุมระดมความคิดเห็นของสื่อมวลชนจังหวัดตราดและจันทบุรีเพื่อปกป้องเด็ก เยาวชนและประชาชนครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง
นายณัฐพงษ์ สงวนจิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราดประธานกล่าวเปิดการประชุม พร้อมบรรยายในหัวข้อ “จังหวัดตราด : นโยบายแก้ปัญหาปัจจัยเสี่ยงสุขภาพ” ว่า จังหวัดตราดให้ความสำคัญกับการลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพโดยเฉพาะนักสูบ – นักดื่มแอลกอฮอล์หน้าใหม่ในสถานศึกษา รวมทั้งการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน มีเครือข่ายอาสาสมัครงดเหล้าทุกตำบล เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดเหล้า ปลอดบุหรี่ พร้อมกับการบำบัดรักษา ส่วนผลกระทบที่เกิดจากแอลกอฮอล์ทำให้เกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ มีคนเสียชีวิต 6 คน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 4 คน แม้ตัวเลขจะไม่สูงแต่คนที่เสียชีวิตกลับเป็นคนจังหวัดตราดทั้งหมด ไม่ใช่นักท่องเที่ยว ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาบุหรี่ผิดกฎหมาย และบุหรี่ไฟฟ้า จังหวัดมีการจับกุมมาอย่างต่อเนื่อง มีการรณรงค์ให้งานบุญประเพณี งานปีใหม่ งานกาชาด ปลอดเหล้าปลอดบุหรี่ มีการจัดทำฐานข้อมูลร้านค้าชุมชนที่ขายเหล้า ขายบุหรี่ เพื่อเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แนวทางแก้ปัญหาคือ ผู้นำจะต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ถ้าผู้นำไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ ผู้ใต้บังคับบัญชา และประชาชนก็จะดูเป็นแบบอย่าง เช่นตัวเองเป็นคนที่ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือใช้ศีลธรรมนำหน้าสินทรัพย์ ทั้งศีล 5 และมรรค 8 จะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้และทำให้บ้านเมืองรุ่งเรืองได้
นพ.ธนะวัฒน์ วงศ์ผัน นายแพทย์ สาธารณสุข จังหวัด ตราด กล่าวว่า 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการจับกุมบุหรี่ไฟฟ้าครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศที่จังหวัดปทุมธานี มีมูลค่ากว่า 46 ล้านบาท สะท้อนปัญหาของความรุนแรง ดังนั้นทำอย่างไรที่จะสร้างความตระหนักให้ผู้ที่นำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้ากลัวที่จะขาย มีข้อสังเกตว่าทำไมบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นที่นิยมในประเทศที่เจริญแล้ว แต่กลับได้รับความนิยมในประเทศแถบเอเชีย ควรจะมีการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ ส่วนบทบาทสื่อมวลชน ควรมีการรายงานข่าวเจาะลึกว่าทำไม เด็ก ป.3 ถึงสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อให้สังคมได้รับรู้ และเป็นบทเรียนในการแก้ปัญหา ขณะเดียวกันปัจจุบันนี้การขายบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ขายหน้าร้านอย่างเดียว แต่ขายแบบออนไลน์กันมากขึ้น เพราะฉะนั้นจะต้องมีการจับกุมให้มากขึ้น แล้วทำให้เข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ยาก
นายแพทย์ณัฐพงษ์ บุญรอด นายแพทย์ชำนาญการสาขา อายุรแพทย์โรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤติการหายใจ โรงพยาบาลตราด กล่าวถึงปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าว่า มีพิษภัยไม่ต่างจากบุหรี่มวน เพราะมีสารนิโคตินในประมาณเท่า ๆ กัน ผลกระทบของการสูบบุหรี่ไฟฟ้า จะมีทั้งเรื่องของอารมณ์ การเรียน เป็นอันตรายต่อสมอง มีผลต่อหัวใจและหลอดเลือด มีสารก่อมะเร็ง จากข้อมูลที่พบมีเด็กที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าอายุต่ำสุด อยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จากการตรวจคนไข้ พบว่าส่วนใหญ่จะมีปัญหาทางสังคมมาก่อน จึงไปพึ่งพาบุหรี่ และแอลกอฮอล์ โรงพยาบาลตราดมีคลีนิกเลิกบุหรี่ และแอลกอฮอล์ มีคนมาขอรับบริการจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่าเป็นปัญหาที่ต้องช่วยกันแก้ไข
พ.ต.อ.มานพ ประสาท ผู้กำกับสอบสวน ตำรวจภูธรจังหวัดตราด กล่าวถึงนโยบายของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการจับกุมการกระทำความผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าว่า มีการให้กองบัญชาการ ตำรวจภูธรภาค จัดแบ่งโซนนิ่งตามความรุนแรงของสถานการณ์ของพื้นที่ที่มีการลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ในส่วนของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ซึ่งรับผิดชอบจังหวัดภาคตะวันออก 8 จังหวัดนั้น จังหวัดตราด ถูกจัดให้เป็นพื้นที่สีเหลืองร่วมกับอีก 4 จังหวัดคือ นครนายก สระแก้ว ปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา ส่วนพื้นที่สีแดงถือว่าสถานการณ์รุนแรงกว่ามี 3 จังหวัดคือชลบุรีโดยเฉพาะเมืองพัทยา ระยองและจันทบุรี ซึ่งผลการ จับกุมบุหรี่ไฟฟ้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 21 สิงหาคม 2567 มีการจับกุมร้านค้าที่กระทำความผิด 4 ครั้งในพื้นที่ สภ.เกาะช้าง 2 ครั้ง สภ.เมืองตราด 2 ครั้ง โดยแยกของกลางที่จับกุมเป็น 4 ประเภทคือ เครื่องบุหรี่ไฟฟ้า 11 ชิ้น บุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง 360 ชิ้น หัวน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าแบบใช้แล้วทิ้ง 799 ชิ้น และน้ำยาบุหรี่ ไฟฟ้าแบบเติม 130 ขวด
ส่วนการจับกุมการลักลอบนำเข้าบุหรี่ผิดกฎหมายโดยหลีกเลี่ยงภาษีนั้นตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบันมีการดำเนินการจับกุมจำนวน 6 ครั้ง ทั้งหมดเป็นผลการปฏิบัติหน้าที่ของสภ.บ้านท่าเลื่อน อ.เมือง จ.ตราด ที่รับผิดชอบถนนหมายเลข 3 จาก อ.คลองใหญ่ซึ่งอยู่ติดชายแดนประเทศกัมพูชามาถึง อ.เมืองตราด จำนวนบุหรี่ที่จับกุมได้ 79,760 ซอง หากนับจาก 1 ซองมี 20 มวนก็จะเป็นจำนวนทั้งสิ้นถึง 1,595,200 มวน สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศจากการลักลอบนำเข้าบุหรี่ผิดกฎหมายโดยไม่ติดอากรแสตมป์ทำให้รัฐขาดรายได้จากการจัดเก็บภาษี ส่วนแนวทางแก้ไข คือจะต้องมีการเพิ่มบทลงโทษทางกฎหมายให้รุนแรงขึ้น เพราะถ้าโทษเบา ผู้นำเข้าและผู้ค้าก็จะไม่เกรงกลัว และลักลอบนำเข้าและจำหน่ายมากขึ้น
นายจักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์ นายกสมาคมสื่อมวลชน จังหวัดตราดในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดตราด กล่าวว่าจุดอ่อนของคณะกรรมการฯ คือมีอำนาจทั้งการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ การคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ และการบำบัดรักษา แต่ในทางปฏิบัติยังไม่บังคับใช้อย่างจริงจัง เห็นได้จากสถิติการจับกุมบุหรี่ต่างประเทศและบุหรี่ไฟฟ้าของจังหวัดตราด และจังหวัดจันทบุรี เหตุที่บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นอีกเพราะราคาถูกกว่า มีการพัฒนารูปลักษณ์ใหม่ๆ ทั้งของเล่นเด็กหรือวัสดุ ใช้สอยของเด็ก นักเรียน ยางลบ ดินสอ ปากกา หรือตุ๊กตาซึ่งตรวจสอบได้ยากว่าเป็นบุหรี่ไฟฟ้าหรือเครื่องเขียน นี่คือสิ่งที่น่ากลัวสำหรับสังคมและลูกหลานของเรา จึงขอเสนอให้คณะกรรมการมีการประชุมมากขึ้น หรืออาจจะตั้งเป็นคณะทำงานมาทำหน้าที่ในการเฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย และขอให้สื่อมวลชนที่เข้าร่วมประชุมช่วยกันนำเสนอข้อมูล นโยบายการแก้ไขปัญหาปัจจัยเสี่ยงต่างๆของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตราดรวมทั้งความเห็นของวิทยากร กรรมการกองทุนสสส.และประธานมสส.ที่ร่วมมือกันจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ไปสู่สังคมโดยผ่านสื่อหรือช่องทางของทุกคนด้วย
สุดท้ายนายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) กล่าวขอบคุณผู้เข้าร่วมประชุมพร้อมกล่าวย้ำถึงบทบาทของสื่อและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในสังคมระดับท้องถิ่นจำเป็นต้องผนึกกำลังร่วมกันมีบทบาทเกื้อหนุนเสริมกันเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนให้อยู่รอดปลอดภัยจากพิษภัยของบุหรี่และแอลกอฮอล์ที่มีผลต่อสุขภาพในวัยที่กำลังศึกษาเล่าเรียนเพื่อเป็นทรัพยากรมนุษย์และกำลังสำคัญในการนำพาพัฒนาสังคมประเทศชาติต่อไปในอนาคต