HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

อำเภอบัวเชด ผสานภาคเอกชนอบรมการขายผลิตภัณฑ์ผ่านสื่อออนไลน์ และส่งเสริมกลุ่มแปรรูปปลาส้ม ผลิตสินค้าน่าซื้อ สร้างรายได้ หลังว่างจากทำงานการเกษตร

วันที่ 30 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น. นายสุรชัย สุนุรัตน์ ปลัดอำเภอบัวเชด เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมกลุ่มอาชีพแปรรูปปลาส้ม ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ศาลาประชาคม บ้านออด หมู่ 11 ต.บัวเชด อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ โครงการดังกล่าวนี้เพื่อน้อมนำแนวพระราชดำริและหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้เป็นหลักในการพัฒนา สร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อเพิ่มรายได้ และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ ให้มีความสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยผ่านกระบวนการสร้างสัมมาชีพในชุมชนด้วยการฝึกอบรมอาชีพให้กับครัวเรือนที่เข้ารับการฝึกอบรมให้มีความรู้และสามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริงๆ อย่างมั่นคง ซึ่งจะเป็นต้นแบบการสร้างกลุ่มอาชีพแปรรูปอาหารในหมู่บ้าน ร่วมทั้งการมีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีการลงทะเบียนเป็นสินค้า OTOP ต่อไป

 

 

 

 

 

 

นายสุรชัย สุนุรัตน์ ปลัดอําเภอบัวเชด กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า ชาวบ้านในพื้นที่อำเภอบัวเชด มีอาชีพที่สร้างรายได้มีด้วยกันหลากหลาย ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่จะเกิดจากการทำเกษตรกรรม คือ การทำไร่ ทำสวน และการทำนา แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปและปัญหาอีกหลายประการ อย่างเช่นการเกิดภัยแล้งผลผลิตจำหน่ายได้ราคาที่ตกต่ำ ส่งผลให้การทำเกษตรต้องมีการหยุดตัวลงไม่สามารถทำได้ต่อเนื่อง จึงทำให้รายได้จากการทำเกษตรหยุดอยู่ช่วงระยะหนึ่ง ซึ่งในช่วงที่ว่างจากการทำเกษตรมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยได้หารายได้เสริม ด้วยการใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในชุมชนมาทำการแปรรูป และจำหน่ายเกิดเป็นรายได้เสริมที่ใช้จ่ายภายในครัวเรือนได้อย่างดี ซึ่งบ้านออด มีชาวบ้านจำนวน 15 ครัวเรือนที่ขุดบ่อเลี้ยงปลากินพืชหลากหลายชนิด เช่น ปลาตะเพียน ปลายี่สก และปลานิล จึงได้จัดตั้งกลุ่มแปรรูปปลาส้ม โดยนำปลาหลากหลายชนิด มาแปรรูปเพื่อให้เกิดมูลค่ามากขึ้น สร้างรายได้จากการแปรรูปเป็นปลาส้ม ทำให้สมาชิกภายในกลุ่ม คือ เกษตรกรที่ว่างจากการทำเกษตรมีรายได้เสริมเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว

 

 

 

นายชนะชล มูลจันทร์ พ่อค้าออนไลน์และวิทยากร กล่าวว่า ปัจจุบันเราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าสื่อออนไลน์มีผลกับประชาชนทั่วไป ยิ่งการขายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์จากชุมชนต่างๆ มักจะประสบปัญหา คือ ชาวบ้านผลิตสินค้าได้แล้วแต่ไม่รู้จะนำไปขายที่ไหน จะขายอย่างไร ขายให้ใคร ที่ผ่านมาจึงทำให้กลุ่มหรือวิสาหกิจชุมชนหลายแห่งปิดตัวลง เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะสินค้าที่ชาวบ้านผลิตออกมานั้นเป็นสินค้าดี มีคุณภาพ ชาวบ้านตั้งใจทำทุกขั้นตอน แต่พอทำเสร็จแล้วกลับขายไม่ได้ สาเหตุมาจากชาวบ้านไม่รู้จักวิธีการขายผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันนี้ร้านค้าต่างๆ มักจะนำสินค้ามาเสนอขายผ่านสื่อออนไลน์ หน่วยงานงานราชการก็สนับสนุนส่งเสริมผ่านช่องทางออนไลน์

 

วันนึ้ถือเป็นโอกาสดี ที่ได้มาให้ความรู้กับกลุ่มอาชีพแปรรูปปลาส้ม วันนี้ตนได้ให้ความรู้กับชาวบ้านอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.ภัยอันตรายที่เกิดจากออนไลน์ เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่หลอกลวงชาวบ้านอยู่ทุกวันนี้ และการพนันออนไลน์ที่กำลังระบาดอยู่ในขนาดนี้ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมากกับประชาชนทั่วไป 2.การผลิตสินค้าที่ดี มีคุณภาพ เพื่อแข่งขันกับตลาด ข้อดี ข้อเสีย ของผลิตภัณฑ์ชุมชน 3.การจำหน่ายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ทุกช่องทาง และการสร้างรายได้จากสื่อออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มที่มีอยู่ในปัจจุบัน

 

 

 

นายทินกร เอ็นดู ผู้ใหญ่บ้านออด กล่าวว่า สมาชิกภายในกลุ่มส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาและทำสวน เมื่อมีเวลาว่างก็อยากหารายได้เสริม ที่ผ่านมานั้น ได้จัดตั้งกลุ่มเลี้ยงปลากินพืชทุกชนิด และแปรรูปจำหน่าย วันนี้อำเภอบัวเชดมีโครงการจัดตั้งกลุ่มแปรรูปปลาส้ม ก็จะเป็นการส่งเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกทั้งได้รับความรู้เรื่องการจำหน่ายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้ชาวบ้านรู้จักการตลาดเพิ่มขึ้นอีกช่องทาง และสามารถขายสินค้าได้เพิ่มขึ้น ร่วมทั้งการหารายได้จากแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ต่างๆ อีกทั้งเป็นการให้ความรู้ ความเข้าใจถึงเรื่องภัยอันตรายจากสื่อออนไลน์ ที่กำลังระบาดอยู่ในขนาดนี้ ถือว่าเป็นโครงการฯที่ชาวบ้านได้ประโยชน์อย่างมากที่สุด