HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

อำเภอศรีราชา ทำโครงการวัดประชารัฐศรีราชาเข้าพรรษานำพาพลังศรัทธาสร้างสุขประชาชน บ้าน-วัด-โรงเรียนขับเคลื่อนโครงการประชารัฐ

เมื่อเวลา10.30น.วันที่ 2 กันยายน 2567 ที่วัดยางเอน หมู่ 2 ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี นายนพรัตน์ ศรีพรหม นายอำเภอศรีราชา ได้เป็นประธานในโครงการ วัดประชารัฐ วัดสร้างสุข อำเภอศรีราชา โดยมีนายปริญวัฒน์ สุนทรอัคราทัศน์ ปลัดอำเภอศรีราชา ,พ.ต.อ.เอนก สระทองอยู่ ผกก.สภ.บ่อวิน นายคณิต เจียหลิม กำนันตำบลบ่อวิน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล สมาชิกกิ่งกาชาดอำเภอศรีราชา อสม.ในพื้นที่ตำบลบ่อวิน และชาวบ้านในพื้นที่บ้านยางเอน บ้านขนำเจ็ด ตำบลบ่อวิน เข้าร่วมกิจกรรมโครงการในครั้งนี้ โดยพระอธิการสมชาติ เจ้าอาวาสวัดยางเอน ร่วมกับทางผู้นำท้องถิ่นให้การต้อนรับ

โดยทางอำเภอศรีราชาได้มอบทุนการศึกษาแก่เด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านเขาหิน โรงเรียนบ้านเขาตะแบก โรงเรียนบ้านบ่อวิน ที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์จำนวน 5 ทุน ทุนละ 2,000 บาท และมอบถุงยังชีพแก่ผู้ยากไร้จำนวน 5 คน หลังจากนั้นก็ฟังพระธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ และฟังพระเจริญพระพุทธมนต์และตักบาตร รวมถึงถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์จำนวน 5 รูปที่จำพรรษาอยู่ในวัดยางเอน

 

 

สำหรับกิจกรรมวัดประชารัฐศรีราชาเข้าพรรษานำพาพลังศรัทธาสร้างสุขประชาชน ในวันนี้ ประกอบด้วยการประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนาร่วมกัน รับฟังปัญหา-แลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีร่วมกันเป็นพลังความรู้รักสามัคคี ความเอื้ออาทร

โดย นายนพรัตน์ ศรีพรหม นายอำเภอศรีราชา กล่าวว่า เพื่อให้วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน การพัฒนาจิตใจสู่การจัดการสิ่งแวดล้อมของวัด และชุมชนอย่างยั่งยืน การสร้างสัปปายะสู่วัด ด้วยหลักพุทธธรรมวิถี 5ส เป็นฐานชีวิตใหม่ที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมนั้น เป็นหนึ่งในแนวทางการสร้างวัดให้เป็นสัปปายะสถาน หรือการมีสภาพที่เกื้อหนุนต่อการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้ได้ผลดี คือ การพัฒนาพื้นที่ทางกายภาพของวัดให้สะอาด ร่มรื่น สวยงาม เป็นการพัฒนาพื้นที่ทางสังคมและการเรียนรู้ ของวัด-ชุมชน ด้วยวิถีวัฒนธรรมเชิงพุทธ และชุมชนตามแนวพระพุทธศาสนา

ซึ่งในการขับเคลื่อนโครงการวัด ประชารัฐ สร้างสุข เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยแนวทาง 3-5-7-9 คือ 3 พันธกิจ 5 ส. 7 ขั้นตอน 9พื้นที่ ที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เพื่อจัดการสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ รวมถึงกิจกรรมเชิงพุทธ โดยก่อให้เกิดความเชื่อมโยง และสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้นระหว่างวัดกับชุมชน โดยการจับคู่กับวัด ศาสนสถาน สถานศึกษาในสังกัด หรือสถานศึกษาในพื้นที่ และภาคีเครือข่ายความร่วมมือในระดับพื้นที่ของตำบลส่งเสริมให้ประชาชนในสังคมไทย รวมถึงกลุ่มวิชาชีพ ตื่นตัวเรื่องการช่วยเหลือสังคม การมีจิตอาสา ความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อทำให้เกิดสังคมสุขภาวะและความยั่งยืน เพื่อร่วมกันพัฒนาวัด ชุมชน ประชาชน สถานศึกษา สืบต่อไป