HD_web_ข่าวเด่นทั่วไทย-03-removebackground

ชาวประมงพื้นบ้าน ร้องขออดีต “นายกฯชวน” ขอที่ดินสร้างบ้านใหม่ หลังจากคลื่นซัดบ้านพังเสียหาย

วันที่ 1 ต.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 2 สมัย และอดีตประธานรัฐสภา พร้อมด้วยคณะใช้เวลา 2 วัน 29-30 กันยายน 2567 ลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจและมอบของอุปโภค บริโภค แก่ชาวบ้านบนเกาะลิบง อ.กันตัง และบ้านนาทะเล ต.ตะเสะ อ.หาดสำราญ จ. ตรัง หลังจากได้รับผลกระทบโดนมรสุมคลื่นซัดบ้านที่อยู่อาศัย ซึ่งพบว่าได้รับความเสียหายกว่า 100 หลัง ล่าสุด ทางนายชวน หลีกภัย พร้อมด้วยคณะ เดินทางลงพื้นที่เยี่ยมให้กำลังใจและมอบของกับชาวบ้าน บ้านนาทะเล ต.ตะเสะ อ.ปะเหลียน จ. ตรัง หมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 3 นำ ถุงยังชีพจากมูลนิธิเพื่อการศึกษาและสังคม ที่นายชวนหลีกภัยเป็นประธานมูลนิธิ บรรจุ ข้าวสาร อาหารแห้ง ผ้าห่ม และของใช้ในชีวิตประจำวัน โดยนายชวนเดินตรวจเยี่ยมบ้านเรือนชาวบ้านที่โดนคลื่นซัดและทักทายถามไถ่สารทุกข์สุขดิบรับฟังปัญหาต่างๆ จากชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน

ในขณะที่นายชวน เดินสำรวจพื้นที่บ้านที่โดนคลื่นซัดจนบ้านพังทั้งหลัง ซึ่งเป็นบ้านของนางปรีดี เสดพงษ์ อายุ 56 ปี อยู่บ้านเลขที่ 87 หมู่ที่ 1 บ้านนาทะเล ต.ตะเสะ อ.หาดสำราญ นางปรีดีเล่าให้นายชวนฟังถึงปัญหาที่ตนเองเจอในขณะนี้หลังจากโดนคลื่นซัดจนบ้านพังทั้งหลัง จนต้องพาคนในครอบครัว 5 ชีวิตไปอาศัยอยู่ที่บ้านญาติเป็นการชั่วคราว ซึ่งพื้นที่บ้านที่โดนคลื่นซัดเป็นบ้านที่ตนเองเช่าอยู่ เมื่อโดนคลื่นซัดจนบ้านพังทั้งหลัง เจ้าของที่ดินไม่อนุญาตให้ตนอยู่ต่อไม่อนุญาตให้สร้างบ้านในพื้นที่ดังกล่าว ขอพื้นที่คืน ทำให้ตอนนี้ตนเองไม่มีที่ดินในการสร้างบ้านใหม่ จึงวิงวอนขอหน่วยงานช่วยประสานเจ้าท่าขอที่ดินเพื่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับ 5 ชีวิต เพราะไม่มีที่ดิน ไม่รู้จะไปอยู่ที่ใหน เพราะบ้านเก่าเสียหายจนอยู่ไม่ได้ ไม่สามารถซ่อมแซมได้ ถ้าหน่วยงานใหนสามารถให้ที่ดินได้จะขอขอบคุณมาก ไม่ขออะไรมาก ขอแค่ที่ดินสร้างบ้านก็พอ ซึ่งมีหน่วยงานเข้ามามอบเงินให้ 2 ครั้ง ครั้งละ 500-600 บาท แต่พอตนเองไปยื่นเรื่องกับ อบต. ทาง อบต.บอกว่าทำไม่ได้ เพราะบ้านที่เราอาศัยอยู่เป็นบ้านเช่า ซึ่งถ้ามีที่ดินตนเองมีเงินบางส่วน เงินหนึ่งหมื่นจากทางภาครัฐ ก็สามารถซื้ออุปกรณ์วัสดุมาสร้างบ้านได้ แต่ปัญหาคือตนเองไม่มีที่ดิน จึงไม่สามารถสร้างบ้านพักที่อยู่อาศัยได้

ทั้งนี้ นายชวน หลีกภัย กล่าวว่า จากการสอบถามชาวบ้าน ชาวบ้านบอกว่าวาตภัยครั้งนี้มาเร็วมาก ปกติลมทะเลจะมาตุลาคม พฤศจิกายน ครั้งนี้มาเร็วและแรงกว่าปีก่อน ๆ จึงทำให้บ้านบางหลังพัง บางหลังก็ชำรุดทรุดโทรม แต่ว่าถ้าโดยรวมแล้วถือว่าชาวบ้านเดือดร้อน แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า บ้านที่พังหรือเสียหายนั้นใครจะช่วยดูแลอย่างไร อันนี้ก็เป็นปัญหาเพราะที่ดินบางแปลงที่เป็นบ้านพักไม่มีเอกสารหลักฐานสิทธิเป็นที่เจ้าท่าเขาดูแลเป็นต้น ถ้ามีโฉนดหรือ นส.3 ทางราชการเขาช่วยดูแลเต็มที่ ซึ่งนี่ก็เป็นปัญหา นายก อบต. และผู้บริหารบางแห่งเขาก็บอกตนเหมือนกันว่าเขาก็ลำบากใจเพราะว่ามันไม่มีเอกสารหลักฐานสิทธิทำให้การช่วยเหลือก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะฉะนั้นการซ่อมบ้านอะไรก็แล้วแต่ต้องอาศัยภาคเอกชนเข้ามาช่วย ในส่วนราชการ ท้องถิ่น จังหวัด อำเภอ อบต.แต่ละแห่งเขาก็ดูแลเป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่โดยรวมแล้วตนเรียนว่าความเสียหายนั้นเกิดขึ้นบางจุด บางจุดก็แรงชนิดบ้านพัง จุดบ้านก็เสียหายทรุดโทรม อันนี้ก็ต้องเป็นเรื่องที่ต้องหาทางให้พื้นที่โดยเฉพาะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.เขาดูแลต่อไป ก็ต้องเสนอเรื่องไปตามลำดับ ชาวบ้านบนเกาะลิบง และบ้านหลังเขาขอพนังกั้นคลื่นนั้น นายชวน ได้กล่าว่า นายก อบต.เกาะลิบง ได้แจ้งกับตนว่าของบประมาณสร้างเขื่อนกั้นคลื่นนั้นได้มาแล้ว มีปัญหาเรื่องอุทยานฯ ว่าอุทยานฯเขาจะอนุญาตให้ทำหรือไม่ อันนี้คือปัญหา ไม่ใช่ปัญหาของเรา แต่เป็นปัญหาของส่วนราชการด้วยกันเอง ว่าทางอุทยานฯจะยอมให้ทำได้หรือไม่ ซึ่งกำนันบอกตนว่าได้งบประมาณก่อสร้างมา 80 ล้านบาท แต่สภาพตรงนั้นน่าเสียดายที่สุดตรงนั้น คือ ต้นไม้ ต้นมะขามอายุไม่น้อยกว่า 200 ปี คือต้นไม้ต้องบอกว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากในแง่ของธรรมชาติ ตนบอกชาวบ้านแถวตะเสะว่าต้นสนอายุเป็น 100 ปี เหล่านี้ต้องดูแลรักษาไว้ เพราะว่าซื้อกี่ล้านก็ไม่ได้ ลงทุนกี่ร้อยล้านก็ไม่มีทางได้ต้นอย่างนี้ ที่ขึ้นมาโดยธรรมชาติของมันเอง เพราะฉะนั้นต้องเก็บรักษาไว้ เพราะฉะนั้นกรณีของเกาะลิบงก็เช่นเดียวกัน แต่ทางกำนันก็บอกว่าให้คำตอบไม่ได้ต้องอยู่ที่อุทยานฯว่าเขาจะยินยอมหรือไม่

ถนอมศักดิ์  หนูนุ่ม /จ.ตรัง