กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับบริษัท ไทยยูเนี่ยน วางฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการังฟื้นฟูแนวปะการัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2567 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมูลนิธิ Earth Agenda SCG และบริษัทไทยยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) ร่วมวางฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง SCG 3D Printing เพื่อฟื้นฟูแนวปะการังบริเวณอ่าวสยาม เกาะราชาใหญ่ จังหวัดภูเก็ต โดยมี ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พร้อมด้วย คุณกีรติ อัสสกุล ประธานกรรมการ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด(มหาชน), คุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด(มหาชน),คุณอดัม เบรนนัน ผู้อำนวยการกลุ่มด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด(มหาชน), ศาสตราจารย์ สัตว์แพทย์หญิง ดร. นันทริกา ชันซื่อ ประธานมูลนิธิเอิร์ธ อะเจนด้าและ คุณชนะ ภูมี ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ การบริหารความยั่งยืน บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ร่วมส่งมอบบ้านปะการัง ด้วยนวัตกรรม SCG 3D Printing ภายใต้โครงการรักษ์ทะเล ซึ่งปัจจุบันหลายพื้นที่มีสภาพเสื่อมโทรมทั้งจากภัยธรรมชาติ การเกิดปะการังฟอกขาวที่มีขึ้นต่อเนื่องทุกปี และเป็นสาเหตุการตายของปะการังเป็นบริเวณกว้าง ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์โดยเฉพาะกิจกรรมการท่องเที่ยวที่ทำให้ปะการังแตกหักเสียหายจากการเหยียบย่ำ การสัมผัสการทิ้งสมอเรือ ซึ่งหากไม่รีบดำเนินการฟื้นฟูให้คืนกลับสู่สภาพเดิมก็จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล และการท่องเที่ยวดำน้ำในระยะยาว แนวทางการฟื้นฟู โดยเพิ่มพื้นที่ฐานลงเกาะของตัวอ่อนช่วยเร็วการฟื้นตัวตามธรรมชาติให้เร็วขึ้น เนื่องจากพื้นที่เดิมมีการสูญเสียพื้นที่ฐานลงเกาะกลายเป็นพื้นทรายช่องว่างระหว่างแนวปะการัง จึงต้องปรับปรุงพื้นทะเลให้เหมาะสมซึ่งการฟื้นฟูปะการังก็มีหลายวิธี

สำหรับกิจกรรมฟื้นฟูแนวปะการังในพื้นที่เกาะราชาในวันนี้ ถึงแม้จะต้องใช้เวลาที่ตัวอ่อนจะลงเกาะและเจริญเติบโตกลับมาใกล้เคียงกับธรรมชาติ ซึ่งก็ว่ายังไม่สายอย่างน้อยเมื่อจัดวางลงไปก็จะเป็นระบบนิเวศที่สัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตได้เข้าไปอาศัยทันที และในปีที่แล้วเราก็ได้เริ่มวางมาแล้วการจัดวางวัสดุฐานลงเกาะที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี 3D Printing จาก SCG ซึ่งทำให้มีรูปทรงใกล้เคียงกลมกลืนกับปะการังธรรมชาติในพื้นที่เกาะราชาใหญ่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวถือว่ามีความเหมาะสมอย่างยิ่งจะไม่ทำให้เกิดความรู้สึกทัศนียภาพใต้น้ำไม่สวยงาม

 

ทั้งนี้ SCG ร่วมส่งมอบบ้านปะการัง ด้วยนวัตกรรม SCG 3D Printing ภายใต้โครงการรักษ์ทะเล เพื่อการฟื้นฟูและอนุรักษ์ท้องทะเลเกาะราชาใหญ่ จ.ภูเก็ต ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2563 โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จึงเกิดเป็นความร่วมมือในการนำเทคโนโลยี 3D Printing จาก SCG ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ขึ้นรูปด้วยปูนมอร์ตาร์ ที่มีคุณสมบัติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มาผลิตเป็นวัสดุฐานลงเกาะตัวอ่อนปะการัง ที่มีความกลมกลืนกับธรรมชาติ เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง นอกจากความตั้งใจที่จะนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในงานอนุรักษ์แล้ว SCG ยังพร้อมเป็นสื่อกลางให้ภาคเอกชนและประชาชนที่มีความสนใจ เข้าถึงและมีส่วนร่วมในงานฟื้นฟูแนวปะการัง โดยในครั้งนี้บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการรักษาความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเล มาร่วมให้การสนับสนุนต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ซึ่งโครงการนี้ ไม่เพียงแต่ช่วยฟื้นฟูปะการัง เพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล แต่ยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้และความร่วมมือระหว่างองค์กรภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย

จิระชัย เกษมพิมลพร /จ.ภูเก็ต