320 โรงเรียน สพฐ. ร่วมโชว์สิ่งประดิษฐ์-นวัตกรรมกว่า 1,000 ชิ้น ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2568

เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เข้าร่วมงาน “วันนักประดิษฐ์ 2568 (IPITEx 2025)” และร่วมการเสวนาหัวข้อ “เขย่าวงการศึกษาไทย! เติมพลังความคิดสร้างสรรค์ให้เด็กไทยด้วยวิจัยและนวัตกรรม” โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ บรรยายพิเศษ และ ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา กอศ. ร่วมการเสวนา ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพมหานคร
สำหรับงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2568 จัดขึ้นโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ร่วมกับ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย วันที่ 2 กุมภาพันธ์ วันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงได้รับสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของโลก การจัดงานในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมไทย : ความท้าทายของประเทศ” ในระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2568 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา โดยภายในงานพบกับ นิทรรศการ “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” และ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ผู้ทรงสืบสานรักษาและต่อยอดเพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎร รวมถึงสถานีกิจกรรม กว่า 20 สถานี ได้แก่ Inventor Station : สถานีนักประดิษฐ์, SMART TOWN SATUN GEO PARK, ศูนย์เกษตรวิถีเมือง, Senior’s Wonderland, Green Land ดินแดนปลอดฝุ่น, ของเล่นไทย :สนุกวิทย์ คิดแบบเล่น Thai Toys :Exlloring Fun Through Science, Game of Drones / MedLab Experience : ผจญภัยในโลกนวัตกรรมการแพทย์สมัยใหม่, The Secret Garden มหัศจรรย์สวนปริศนา ฯลฯ และนิทรรศการแสดงรางวัลการวิจัยแห่งชาติ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมมากกว่า 1,000 ผลงาน จาก 6 กลุ่มเรื่อง ได้แก่ ด้านความมั่นคง เกษตรสร้างมูลค่า อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต นวัตกรรมการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ สังคมผู้สูงวัยและผู้พิการ และนวัตกรรมสีเขียว นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์สู่การใช้ประโยชน์ มหกรรมสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม โครงการ IPTEx การประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในระดับเยาวชน I-New Gen Award 2025 การประกวดโครงงานนักประดิษฐ์รุ่นจิ๋ว-New Gen Junior Award 2025 รวมถึงการเสวนาการฝึกอบรมเชิงวิชาการและปฏิบัติการมากกว่า 100 หัวข้อ และการฝึกอบรมอาชีพต่างๆ ภายในงานอย่างมากมาย
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า รู้สึกชื่นชมและขอบคุณที่เป็นเวทีนำเสนอผลงานสิ่งประดิษฐ์มากกว่า 1,000 ชิ้น เป็นเวทีให้นักเรียนได้แสดงความสามารถ และเสริมแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ของตนเอง ซึ่งจากจำนวนโรงเรียนที่เข้าร่วมงานวันนี้ 194 แห่ง เป็นโรงเรียนในสังกัด สพฐ. จำนวน 94 แห่ง มีจำนวนนักเรียนรวมกว่า 7,844 คน ที่ได้เข้ามาเยี่ยมชมงานด้วยความตื่นตาตื่นใจ และมีโรงเรียนที่เข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ทั้งหมด 342 แห่ง แบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษา 172 แห่ง ระดับประถมศึกษา 170 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นโรงเรียนสังกัด สพฐ. จำนวน 320 แห่ง ถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้เห็นความสามารถที่หลากหลายของนักเรียน และเป็นโอกาสที่จะทำให้นักเรียนได้มองเห็นถึงความถนัด ความสามารถของตนเอง เกิดแรงบันดาลใจในการก้าวสู่เส้นทางนักประดิษฐ์ รวมทั้งได้ช่องทางหรือเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ที่ทำให้นักเรียนไปสู่จุดที่เป็นนวัตกร ในโอกาสนี้ต้องขอบคุณ วช. อว. และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในการยกระดับ ส่งเสริม สนับสนุน เปิดโอกาส สร้างเวทีให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ และสร้างเวทีแสดงความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และเป็นองค์รวมของหลายวิชา ซึ่งมีความสำคัญในยุคปัจจุบันและอนาคต เพราะการนำความรู้เหล่านี้มาต่อยอดเพื่อเกิดประโยชน์ คือพลังขับเคลื่อนเราไปสู่อนาคตต่อไป

ทั้งนี้ ตามนโยบายกระทรวงศึกษาธิการ นำโดยพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงศ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ให้ความสำคัญกับการปฏิวัติการศึกษา แก้ปัญหาประเทศ มุ่งเน้นให้เด็กเกิดความ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” นำไปสู่การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และการศึกษาเพื่อความมั่นคงของชีวิต ซึ่งจากนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ได้มีการเน้นย้ำว่าความสุขต้องมาพร้อมกับการเรียนรู้ และเด็กต้องได้ต่อยอดการเรียนรู้อย่างมีความสุข สำหรับ สพฐ. รับผิดชอบช่วงวัยนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล สู่วัยเตรียมพร้อมสู่ระดับมหาวิทยาลัย หรือสู่ระดับการอาชีพ สร้างอาชีพ จึงมีแนวทางที่หลากหลายในการสร้างเด็กให้เป็นนักประดิษฐ์ นักนวัตกร สร้างนวัตกรรมเกิดขึ้น เป็นการนำพาเด็กข้ามจากขั้น Apply สู่การ Create ด้วยการฝึกการเป็นนักคิดแบบวิทยาศาสตร์ เติมเต็มรายละเอียดสถานการณ์ของแต่ละคนแตกต่างกันไปจนกลายเป็น Content ในที่สุด
“สุดท้ายนี้ ขอฝากว่าการปลูกฝังให้เด็กได้มีการคิด ไปสู่ Active learning จนถึงการปฏิบัติจริง เชื่อมโยง GEN ต่าง ๆ ต้องอาศัย ชุมชน สภาพแวดล้อม ปราชญ์ชุมชน องค์ความรู้ของปู่ย่าตายาย เมื่อเด็กโตขึ้นมาอีกนิด ต้องเติมสิ่งที่มองไปถึงอนาคต เติมการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศและการศึกษาเพื่อความมั่นคง โดยการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ สพฐ. มีโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย และเครือข่ายที่เข้มแข็ง เช่น ทีมอาจารย์มหาวิทยาลัย โดยการสร้างเป็นนักประดิษฐ์ นักนวัตกร สิ่งที่เด็กคิดและเกิดการประดิษฐ์จากระดับมัธยม กลายเป็นสิ่งที่จดสิทธิบัตร เด็กได้รู้ว่าสิ่งเหล่านี้คือทรัพยสินทางปัญญา สร้างความภาคภูมิใจ รวมถึงเน้นย้ำงานวิจัยที่เกิดประโยชน์ที่มีคุณค่าคืนสู่สังคม เกิดประโยชน์ต่อสังคม ทั้งนี้ ในการเขย่าวงการศึกษาของไทย สิ่งสำคัญอยู่ที่ไอเดียของผู้เรียนที่จะทำให้เกิดการคิด วิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผล ทำให้เด็กได้เป็นนักสร้าง (Creator) ที่สมบูรณ์แบบ ส่งผลทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และเกิดความรักต่อประเทศของตนเองในที่สุด” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว