อนุกรรมาธิการ การเงิน การคลัง แจงเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 สร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชน

เมื่อวันที่ 31 มกราคม นายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการการเงิน การคลัง ในคณะกรรมาธิการการเงิน การคลัง สถาบันการเงินและตลาดการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดเผยการประชุมคณะอนุกรรมาธิการการเงิน การคลัง เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมาว่า ในการประชุมได้มีนายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ รองประธานคณะอนุกรรมาธิการคนที่หนึ่ง น.ส.กชวรรณ เฉิดรัศมี อนุกรรมาธิการ นายวิรุณ ชัยลือกิจ เลขาอนุกรรมาธิการ, รศ.ดร.พ.ต.อ.สมดุลย์ ดำทองสุก, นายฐานวัฒน์ วิบูลย์ธนสาร ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมาธิการ รวมทั้งคณะอนุกรรมาธิการการเงิน การคลัง เข้าร่วมประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง ในการประชุมครั้งนี้ได้เชิญนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มาชี้แจงและรับฟังข้อคิดเห็นการกำหนดดอกเบี้ยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2565 ในอัตราร้อยละ 23 อาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย

โดยนายจิตติพจน์กล่าวว่า ทางคณะอนุกรรมาธิการการเงิน การคลัง ได้กล่าวกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเกี่ยวกับประเด็นปัญหากรณีประชาชนจำนวนมาก ที่เป็นลูกหนี้ได้ร้องเรียนว่า จะต้องเสียค่าดอกเบี้ยแพง 24-25 เปอร์เซ็นต์ กรณีมีสินเชื่อเกี่ยวกับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หากมีทะเบียนรถเสียดอกเบี้ย 24 เปอร์เซ็นต์ หากไม่มีทะเบียนรถเสียดอกเบี้ย 25 เปอร์เซ็นต์ และถ้าติดในเรื่องบัตรเครดิตจะต้องเสียอีก 16 เปอร์เซ็นต์ และยังไม่รวมค่าธรรมเนียมอื่นๆ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนมาก จึงได้มาร้องเรียนมา พร้อมทั้งยกตัวอย่างสมัย พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้มีการบังคับใช้กฎหมายผู้ให้กู้ทั้งนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา หากปล่อยกู้เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ จะต้องถูกดำเนินคดี

 

 

สำหรับคดีดอกเบี้ยมีกฎหมายทั้งหมด 2 ฉบับคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.654 ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละสิบห้าต่อปี ถ้าในสัญญากำหนดดอกเบี้ยเกินกว่านั้น ก็ให้ลดลงมาเป็นร้อยละสิบห้าต่อปี” และพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2560 มีการกำหนดโทษไว้เช่นกัน ซึ่งสมัย พลเอก ประวิตร สามารถทำได้ แต่สมัยนี้ทำไม่ได้ ส่งผลให้สถาบันการเงินมีกำไรมหาศาลปีละหลายแสนล้านบาท จึงมาร้องเรียนต่อคณะอนุกรรมาธิการการเงิน การคลัง หลังจากนั้นจึงได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยเชิญธนาคารแห่งประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายมาให้ข้อมูล และพบว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้อาศัยตามประกาศคณะปฏิวัติ ปี 2515 ฉบับที่ 58 สมัยจอมพล ถนอม ซึ่งสมัยนั้นกระทรวงต่างๆ ยังแบ่งอำนาจไม่ชัดเจน จึงกำหนดให้ทางกระทรวงการคลังเป็นผู้ดูแล กำหนดเงื่อนไขเพื่อความปลอดภัย และความผาสุกของประชาชน และกระทรวงการคลังได้มอบอำนาจให้ธนาคารแห่งประเทศเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขของสถาบันการเงิน ผ่านมาแล้วกว่า 50 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทยก็อาศัยอำนาจประกาศของคณะปฏิวัติ ล่าสุดได้ประกาศการเรียกเก็บสินเชื่อบุคคล หากมีการกู้เงินและมีทะเบียนรถจักรยานยนต์ต้องเสียดอกเบี้ย 24 เปอร์เซ็นต์ หากไม่มีทะเบียนรถจักรยานยนต์เสียดอกเบี้ย 25 เปอร์เซ็นต์ บัตรเครดิตเก็บได้ 16 เปอร์เซ็นต์

ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะประกาศคณะปฏิวัติได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจนมี 3 ข้อ มีข้อ 5 ข้อ 7 และข้อ 14 กล่าวโดยสรุปสาระสำคัญ ธนาคารแห่งประเทศในประเด็น “เพื่อความปลอดภัยหรือความผาสุกของประชาชน” ทำให้เกิดสิทธิพิเศษกับสถาบันการเงิน ที่สามารถเก็บดอกเบี้ยเกิน 15 เปอร์เซ็นต์ได้ ทั้งที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เก็บดอกเบี้ยไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ จึงกลายเป็นว่าเพื่อความปลอดภัยหรือความผาสุกของสถาบันการเงิน สร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชน จึงได้แจ้งให้ รมช.การคลังทราบ ซึ่งรับปากว่าจะแจ้งให้ รมว.การคลังทราบอีกครั้งหนึ่ง เพื่อดำเนินการต่อไป การที่มีการเก็บดอกเบี้ยแพงถือว่าเป็นการทำผิดกฎหมาย ซึ่งจะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขโดยด่วน

หากทางกระทรวงการคลังเมื่อทราบการชี้แจงของคณะอนุกรรมาธิการการเงิน การคลังแล้วจะต้องรีบดำเนินการแก้ไขทันที เพราะไม่เช่นนั้นจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เช่นกัน หวังว่าจะได้รับข่าวดีเร็วๆนี้ เพราะว่าประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสินเชื่อและบัตรเครดิตอย่างมากมายหลายล้านคน โดยเฉพาะสินเชื่อบุคคลประมาณ 6.6 ล้านล้านบาท

หากทางกระทรวงการคลังดำเนินการแก้ไข จะลดปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และสามารถลดภาระหนี้สินล้นพ้นตัวได้ นอกจากนี้เศรษฐกิจของประเทศไทยจะดีขึ้นอีกด้วย เพราะหากหนี้สินลดลง ก็จะมีกำลังในการสร้างผลผลิตมากยิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อค่าจีดีพี ที่มีการคาดการณ์ว่าในปี 2568 จะเติบโต 3 เปอร์เซ็นต์ หากลดหนี้สินส่วนบุคคลลงได้ 5 เปอร์เซ็นต์ ก็จะทำให้ จีดีพีโตขึ้น 3.5 เปอร์เซ็นต์ทันที ซึ่งจะเกิดภาพรวมที่ดีของประเทศไทย

 

ภาพ/ข่าว ณพล บริบูรณ์, นภชนก เหมือนนามอญ รายงาน