229 เขตพื้นที่ ยกระดับคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กด้วย DLTV

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) เป็นประธานในการประชุมชี้แจงการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) และแนวทางการจัดการศึกษาด้วย DLTV ผ่านระบบออนไลน์ โดยมีผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการกลุ่ม DLICT และศึกษานิเทศก์ ที่รับผิดชอบงาน DLICT จำนวน 689 คน จาก 229 เขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วมประชุม ณ โรงเรียนราชวินิต กรุงเทพมหานคร
สำหรับการประชุมดังกล่าว จัดโดยศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล เป็นการประชุมร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่มีโรงเรียนในสังกัดใช้ DLTV ทั้งหมด จำนวน 229 เขต เพื่อให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและสถานศึกษาเข้าใจแนวทางการใช้ DLTV ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 และสถานศึกษาที่ใช้ DLTV มีแนวทางในการใช้ DLTV ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีวิทยากรให้ความรู้ ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นางวรางคณา ไชยเรือน ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ สพฐ. นายเอกวัฒน์ ล้อสุนิรันดร์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกล นายอำนาท เหลือน้อย ผอ.สพป.สุพรรณบุรี เขต 3 และนางสาวสุรีย์พร พรมยกบัตร์ ผอ.โรงเรียนบ้านหนองบอน สพป.นครราชสีมา เขต 2

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV โดยโรงเรียนต้นทางจากโรงเรียนวังไกลกังวล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนสำหรับโรงเรียนที่ยังไม่พร้อมในเรื่องครูไม่ครบชั้น ครูไม่ตรงวิชาเอก หรือโรงเรียนที่มีความพร้อมแล้วแต่ต้องการพัฒนาครูในโรงเรียนให้มีเทคนิคการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียนที่หลากหลาย ซึ่งที่ผ่านมา สพฐ. ได้วิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนที่ใช้ DLTV ในการประเมิน RT, NT, O-NET โดยการจำแนกกลุ่มโรงเรียนตามสี โดยสีแดงเป็นกลุ่มโรงเรียนที่ต้องช่วยพัฒนาแก้ไขในด้านต่างๆ ผลปรากฏว่า โรงเรียนในกลุ่มสีแดง ยังใช้ไม่ 100% ใช้บางวิชา ใช้บ้าง ไม่ใช่บ้าง รวมทั้งไม่เตรียมความพร้อมก่อนใช้ หรือยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในการใช้ ซึ่งจริง ๆ แล้วครูสามารถพัฒนาเทคนิคการสอน การถ่ายทอดจากครูตู้ (โรงเรียนต้นทาง) ได้ ซึ่งในจำนวนสถานศึกษาทั้งหมดของ สพฐ. 29,000 กว่าโรง เป็นโรงเรียนขนาดเล็กมากกว่า 50% การใช้ DLTV ในโรงเรียน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคลได้เป็นอย่างดี เพราะนอกจากครูตู้ที่ถ่ายทอดเทคนิคการสอนแล้ว ครูประจำห้องยังสามารถเข้าถึงพฤติกรรมของนักเรียน สามารถทราบข้อมูลว่านักเรียนเรียนทันหรือไม่ทันในเรื่องใด จุดใดบ้าง และจดบันทึกหลังสอนนักเรียนเป็นรายบุคคล พร้อมทั้งสร้างความรู้ ความเข้าใจเพื่อเติมเต็มให้กับนักเรียนได้ ดังนั้น การที่ห้องเรียนมีครู 2 คน คือ ครูตู้จากโรงเรียนต้นทาง และครูประจำห้อง เป็นสิ่งที่ดีกว่ามีครู 1 คน เพราะโอกาสทำให้เกิดประโยชน์เติมเต็มทั้งครู และทั้งนักเรียนที่มีความเข้าใจแต่ละคนแต่ละจุดไม่เหมือนกัน อีกทั้งจะเป็นทางลัดในการเติมเต็มได้อย่างรวดเร็ว และตรงจุดอีกด้วย

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญ คือ ผอ.โรงเรียนต้องส่งเสริมสนับสนุนให้โรงเรียนใช้ DLTV ให้ครบ 100% เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีที่สุดกับโรงเรียน ครู และนักเรียน ทั้งสร้างโอกาสและความเท่าเทียมให้กับนักเรียน แก้ปัญหาโรงเรียนครูไม่ครบชั้น ครูไม่ตรงวิชาเอก หรือความไม่พร้อมในด้านต่าง ๆ ต้องทำมาตรฐานให้เกิดขึ้น เพื่อนักเรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง ความท้าทายจุดนี้คือโอกาสในการแสดงศักยภาพและแสดงสิ่งที่เอื้ออำนวยให้ครู จึงอยากให้ทุกคนใช้ DLTV อย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง สอดคล้องกับความตั้งใจของพลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ ที่ได้สั่งการในที่ประชุมประสานภารกิจกระทรวงฯ ให้โรงเรียนขนาดเล็กที่ใช้ DLTV หากมีอุปกรณ์ชำรุด ให้ประสานความร่วมมือกับโรงเรียนอาชีวศึกษาที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกในการซ่อมแซม ปรับปรุง ให้โรงเรียนขนาดเล็กมีกำลังใจในการปฏิบัติงานอย่างเต็มศักยภาพ
“ขอเป็นกำลังใจให้โรงเรียนขนาดเล็กทุกโรงเรียน ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. เพื่อให้เด็กไทย “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” โดยการนำ DLTV ไปใช้ในโรงเรียนถือว่าท่านได้รับโอกาสที่ดี ที่จะได้พัฒนาผู้เรียนและครูผู้สอนไปพร้อมกัน แสดงให้เห็นว่า “โรงเรียนขนาดเล็ก แต่คุณภาพคับแก้ว” และขอขอบคุณผู้เกี่ยวข้องทุกคน รวมถึง ศพก.สพฐ. ที่ขับเคลื่อนการดำเนินการร่วมกับเขตพื้นที่ ทำให้เห็นประสิทธิภาพอันเข้มแข็งของเขตพื้นที่ในการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเพื่อประโยชน์สูงสุดกับนักเรียนของเราทุกคน” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว