สพฐ. จับมือ สอวน. – จุฬาฯ เตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 21 สุดยิ่งใหญ่

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2568 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมแถลงข่าวการจัดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 21 โดยมี ศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา รองประธานมูลนิธิ สอวน. กล่าวเปิดงาน ร่วมด้วย ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ผ่องศรี จั่นห้าว ประธานคณะกรรมการดำเนินการ รศ.ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ชนิตา ดวงยิหวา หัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงคณะกรรมการดำเนินงาน และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม ณ ห้องประชุมสารนิเทศ ชั้น 2 หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 21 (The 21st International Geography Olympiad – iGeo 2025) จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2568 ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยปีนี้ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซึ่งจะมีเยาวชนจากกว่า 50 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมการแข่งขันและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านภูมิศาสตร์ โดยมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) มอบหมายให้ศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การดำเนินงานของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการจัดการแข่งขัน โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และภาคีเครือข่าย เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 70 พรรษา ผู้ทรงริเริ่มภูมิศาสตร์โอลิมปิกในประเทศไทยให้ไปสู่ระดับสากล

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. มีหลักการดำเนินการจัดการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ และเพื่อความมั่นคงของชีวิต อีกทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีพันธกิจสำคัญในการพัฒนานักเรียนให้มีศักยภาพเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ สพฐ. จึงให้การสนับสนุนการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกอย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนวิชาภูมิศาสตร์ในโรงเรียนทั่วประเทศ ในส่วนของการพัฒนานั้น สพฐ. ได้ดำเนินการร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 โดยคัดเลือกโรงเรียนที่มีศักยภาพตั้งเป็นศูนย์โรงเรียนโอลิมปิกวิชาการ สอวน. วิชาภูมิศาสตร์ จำนวน 5 โรงเรียน ได้แก่ 1) โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร 2) โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 3) โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 4) โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช และ 5) โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จังหวัดสงขลา พร้อมกันนี้ ได้ดำเนินการอบรมครูภูมิศาสตร์ ตามแนวทางหลักสูตรภูมิศาสตร์โอลิมปิกวิชาการ เป็นประจำทุกปี ปัจจุบันมีคุณครูที่ผ่านการอบรมทั่วทุกภูมิภาค จำนวน 2,218 คน ทำให้นักเรียนจากทั่วทุกภูมิภาคมีโอกาสได้เรียนรู้หลักสูตรภูมิศาสตร์โอลิมปิก นอกจากนี้ ผลการสอบคัดเลือกนักเรียนค่าย 1 สอวน. วิชาภูมิศาสตร์โอลิมปิก มีนักเรียนจากทั่วทุกภูมิภาคสามารถสอบคัดเลือกผ่านเข้าค่าย 1 สอวน. ได้ และยังมีนักเรียนที่อยู่ในภูมิภาคสามารถสอบคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยไปแข่งขันวิชาภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศได้ เช่น โรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล จังหวัดสกลนคร และโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย จังหวัดสงขลา เป็นต้น ทั้งนี้ สพฐ. จะมุ่งมั่นดำเนินการพัฒนาทั้งครูและนักเรียน และจะจัดตั้งศูนย์โรงเรียนโอลิมปิกวิชาการ สอวน. วิชาภูมิศาสตร์เพิ่มเติมให้ครบทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งเป็นการกระจายโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ได้เป็นอย่างดี

“การแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศในครั้งนี้ จะเป็นเวทีให้นักเรียนได้มีโอกาสแสดงความสามารถในระดับนานาชาติ รวมถึงคุณครูในโรงเรียนศูนย์ฯก็ได้รับโอกาสในการถ่ายทอดความรู้จากการอบรมต่างๆ ทำให้เด็กทุกคนได้รับองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ทัดเทียมกับนานาชาติ สิ่งสำคัญคือได้รับแรงบันดาลใจให้เกิดการยกระดับมาตรฐานการศึกษาอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม รวมถึงพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างก้าวกระโดดทั้งของนักเรียนและครูที่เห็นได้อย่างชัดเจน โอกาสนี้ ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สอวน. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ที่ทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้เรียน และเกิดการพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ สพฐ. มีความภาคภูมิใจในความสำเร็จของเยาวชนไทยที่ได้แสดงศักยภาพในเวทีนานาชาติ และเชื่อมั่นว่าการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศที่จัดขึ้นที่ประเทศไทยในปีนี้ จะเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้เยาวชนรุ่นใหม่หันมาสนใจและพัฒนาตนเองในสาขาภูมิศาสตร์มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศชาติต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ด้านศาสตราจารย์กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา รองประธานมูลนิธิ สอวน. กล่าวว่า การแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ เป็นเวทีสำคัญที่เปิดโอกาสให้เยาวชนจากทั่วโลกได้แสดงความสามารถด้านภูมิศาสตร์ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ทางวิชาการและวัฒนธรรมกับเพื่อนเยาวชนจากนานาประเทศ โดยมีการจัดการแข่งขันครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1996 ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ และการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จะช่วยกระตุ้นให้เยาวชนไทยและเยาวชนทั่วโลกตระหนักในความสำคัญของภูมิศาสตร์ในการพัฒนาโลกยุคใหม่ อีกทั้งยังช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงและ ศักยภาพด้านวิชาการของประเทศไทยในเวทีระดับนานาชาติ และเป็นโอกาสสำคัญในการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 70 พรรษา ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาการเรียนการสอนวิชาภูมิศาสตร์ในระดับโรงเรียน

รศ.ผ่องศรี จั่นห้าว ประธานคณะกรรมการวิชาภูมิศาสตร์ มูลนิธิ สอวน. ในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของประเทศไทยว่า การเริ่มต้นของการแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกในประเทศไทยเกิดขึ้นใน พ.ศ. 2555 เมื่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ทรงเสด็จและกล่าวปาฐกถาที่งาน Internatonal Geography Conference ณ มหาวิทยาลัยโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี เมื่อเสด็จกลับประเทศไทย พระองค์ทรงมีพระราชดำริให้มูลนิธิ สอวน. ศึกษาและส่งเสริมให้นักเรียนไทยได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันด้านภูมิศาสตร์ โดยมูลนิธิ สอวน. ได้ระดมคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เพื่อพัฒนาหลักสูตรและตำราภูมิศาสตร์โอลิมปิก สำหรับอบรมครูและนักเรียน จนใน พ.ศ. 2558 ได้ส่งผู้แทนไทยเข้าร่วมการแข่งขันครั้งแรก และต่อมาได้คัดเลือกผู้แทนไทยอย่างต่อเนื่องเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับนานาชาติ เมื่อ พ.ศ. 2560 มูลนิธิ สอวน. ได้จัดตั้งศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิกรวม 15 แห่งทั่วประเทศ (7 ศูนย์มหาวิทยาลัย และ 8 ศูนย์โรงเรียน) เพื่อเป็นสนามสอบและค่ายอบรมคัดเลือกผู้แทนไปแข่งขันในระดับนานาชาติ
ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาความรู้และสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อประโยชน์ของสังคมและโลก มุ่งมั่นส่งเสริมการศึกษาด้านภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่สามารถตอบโจทย์ความท้าทายของโลกยุคปัจจุบันและอนาคต รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ที่นำไปสู่แนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน การเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ เป็นการแสดงศักยภาพด้านภูมิศาสตร์ของประเทศไทย ซึ่งมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร สถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกในการรองรับการแข่งขันระดับนานาชาติ อาทิ ศูนย์ทดสอบทางวิชาการ หอประชุมใหญ่ และศาลาพระเกี้ยวสำหรับงาน Cultural Night
รศ.ดร.สุรเดช โชติอุดมพันธ์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ภาควิชาภูมิศาสตร์เป็นภาควิชาหนึ่งของคณะอักษรศาสตร์ ที่มีความแข็งแกร่งทางวิชาการ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเป็นกำลังสำคัญของคณะอักษรศาสตร์ โดยภาควิชาภูมิศาสตร์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศูนย์ภูมิศาสตร์โอลิมปิก สอวน. รับผิดชอบโรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้งหมด ยกเว้นโรงเรียนที่เป็นศูนย์ฯ ในการอบรมและคัดเลือกผู้แทนศูนย์ไปแข่งขันในระดับชาติ โดยนักเรียนจากศูนย์ฯ จุฬาฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศ เพื่อไปแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ใน พ.ศ. 2566 จำนวน 2 คน และ พ.ศ. 2567 จำนวน 1 คน จากผู้แทนประเทศไทยปีละ 4 คน ถือเป็นความสำเร็จในการพัฒนานักเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานครไปสู่ระดับนานาชาติ
ผศ.ดร.ชนิตา ดวงยิหวา หัวหน้าภาควิชาภูมิศาสตร์ คณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแข่งขันภูมิศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ครั้งที่ 21 นี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิด ณ หอประชุมใหญ่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมจากประมาณ 50 ประเทศ โดยมีรูปแบบการแข่งขันและกิจกรรมเสริมการแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การสอบข้อเขียน การสอบภาคสนาม และการสอบมัลติมีเดีย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสริมเพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและความรู้ ได้แก่ การจัดนิทรรศการโปสเตอร์ของแต่ละประเทศ การทัศนศึกษาในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อเยี่ยมชมสถานที่สำคัญของประเทศไทย เช่น การเยี่ยมชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา อุทยานธรณีโคราชและแหล่งมรดกโลกศรีเทพ และการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ที่จังหวัดน่าน เป็นต้น