สพฐ. พัฒนาศึกษานิเทศก์ 245 เขต เชื่อมโรงเรียน-ครู-เขตพื้นที่ สร้างคุณภาพผู้เรียนทั่วประเทศ

วันที่ 3 มีนาคม 2568 นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจาก ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นประธานในพิธีเปิดการพัฒนาศึกษานิเทศก์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (รุ่นที่ 2) โดยมี นางวัฒนาพร ระงับทุกข์ ที่ปรึกษาพิเศษ ศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ ดร.เบญลักษณ์ น้ำฟ้า ที่ปรึกษาโครงการฯ นางอาทิตยา ปัญญา ผอ.ศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ พร้อมด้วยศึกษานิเทศก์ผู้เข้ารับการพัฒนา 361 คน คณะศึกษานิเทศก์พี่เลี้ยง 46 คน วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารระดับสูง และศึกษานิเทศก์ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านการนิเทศการศึกษา ทั้งในประจำการและนอกประจำการ เข้าร่วม ณ โรงแรมอิงธาร รีสอร์ท จังหวัดนครนายก

สำหรับโครงการพัฒนาศึกษานิเทศก์ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 (รุ่นที่ 2) ในครั้งนี้ จัดโดยศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ (ศบศ.) เพื่อให้ศึกษานิเทศก์จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 245 เขตทั่วประเทศ ได้พัฒนาสมรรถนะตามมาตรฐานตำแหน่ง สามารถนิเทศการศึกษา ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา ขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และ สพฐ. รวมทั้งพัฒนาตนเองตามมาตรฐานตำแหน่งและวิชาชีพได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดการพัฒนาเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1. ระยะ Pre-Training ดำเนินการระหว่างวันที่ 9 มกราคม – 2 มีนาคม 2568 ให้ศึกษานิเทศก์ผู้เข้ารับการพัฒนาได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ผ่านระบบ Platform ซึ่งได้มีการปฐมนิเทศแบบ Online ไปเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2568 2. ระยะ On-site Training เป็นการจัดอบรมพัฒนาเชิงปฏิบัติการ ระหว่างวันที่ 3-6 มีนาคม 2568 ณ โรงแรมอิงธารรีสอร์ท จังหวัดนครนายก และ 3. ระยะ Post-Training เป็นการนำองค์ความรู้ไปใช้ในการนิเทศ และปฏิบัติงานตามมาตรฐานตำแหน่งศึกษานิเทศก์ ดำเนินการระหว่างวันที่ 7 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2568 ณ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาที่ศึกษานิเทศก์ผู้เข้ารับการพัฒนาได้ปฏิบัติงานอยู่จริง โดยมีศึกษานิเทศก์พี่เลี้ยงช่วยชี้แนะเป็นโค้ชให้ในแต่ละเขตตรวจราชการ
นางเกศทิพย์ ศุภวานิช กล่าวว่า ศึกษานิเทศก์ถือเป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่ง ในการให้คำแนะนำ ชี้แนะถึงแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน และบริบทของสถานศึกษาแต่ละแห่ง โดยมีเป้าหมายที่คุณภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้เห็นความสำคัญในการพัฒนาศึกษานิเทศก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในการดำเนินนโยบายปฏิรูปการศึกษา และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมุ่งหวังให้ผู้เรียนทุกช่วงวัยได้รับการพัฒนาในทุกมิติ ทั้งในด้านโอกาส ความเท่าเทียม ความเสมอภาค มีคุณภาพและสมรรถนะ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ของกระทรวงศึกษาธิการ นำโดย พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รมช.ศธ. นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ ศธ. และว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการ กพฐ. ในการส่งเสริมให้นักเรียนเป็นผู้ที่ “ฉลาดรู้ ฉลาดคิด ฉลาดทำ” ด้วยหลักการทำงาน “จับมือไว้แล้วไปด้วยกัน” และให้ความสำคัญกับการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งศึกษานิเทศก์ที่ต้องเป็นแบบอย่างของครู เป็นผู้ชี้แนะ เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด

“ศึกษานิเทศก์เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยทำหน้าที่ให้คำแนะนำและสร้างความมั่นใจแก่ครูในการปฏิบัติงานให้ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยให้กระบวนการทำงานที่เคยซับซ้อนสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและรวดเร็วยิ่งขึ้น สิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนบทบาทของศึกษานิเทศก์คืออุดมการณ์ ความมุ่งมั่น และความเสียสละในการทำงานอย่างเต็มที่ด้วยความสุข ทั้งนี้ เมื่อศึกษานิเทศก์ประสานความร่วมมือกับโรงเรียนและเขตพื้นที่อย่างใกล้ชิด ย่อมแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมของความสำเร็จในเชิงคุณภาพ การขับเคลื่อนนโยบายด้านวิชาการและการพัฒนาการศึกษาจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากศึกษานิเทศก์มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ทำให้สามารถลดความซับซ้อนของกระบวนการ ลดระยะเวลาในการดำเนินงาน และสามารถประเมินผลได้อย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็น Active Learning, Comprehension Learning Community หรือแนวคิดห้องเรียนรวมรายวิชา ซึ่งใช้แหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียนอย่างเป็นระบบและบูรณาการตัวชี้วัดร่วมกัน จึงขอชื่นชมและเป็นกำลังใจให้ศึกษานิเทศก์ทุกคนในการลดช่องว่างทางการศึกษา สร้างโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ และยกระดับมาตรฐานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วทั้งประเทศ เพื่อการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนให้พร้อมเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตต่อไป” รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าว”