สามองค์กรตำรวจร่วมคัดค้านร่างแก้กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ชี้กระทบกระบวนการยุติธรรม กระทบงานสอบสวน

สมาคมตำรวจ สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และชมรมพนักงานสอบสวนตำรวจ ร่วมกันออกแถลงการณ์คัดค้านร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่งเสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคประชาชน โดยเห็นว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน และลดทอนประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม

ในร่างกฎหมายดังกล่าว มีข้อเสนอหลักในการปรับเปลี่ยนบทบาทของพนักงานสอบสวน โดยให้อัยการมีอำนาจกำกับ ควบคุม และมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้นทางของการสอบสวน เช่น การให้ความเห็นก่อนออกหมายเรียก หมายจับ หมายค้น หรือหมายขัง อีกทั้งยังให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้ให้ความเห็นแย้งแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งทั้งสามองค์กรเห็นว่าเป็นการแทรกแซงกระบวนการสอบสวน และมีเหตุผลในการคัดค้านที่สำคัญ 4 ประการ

ด้แก่:

1. เสี่ยงทำข้อมูลคดีรั่วไหล
ร่างกฎหมายกำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องแจ้งเหตุการกระทำผิดต่อฝ่ายปกครองและอัยการทันทีเมื่อพบเหตุ ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลในคดีรั่วไหล โดยเฉพาะคดีสำคัญ เสี่ยงกระทบต่อความปลอดภัยของพยาน ผู้เสียหาย และชื่อเสียงของผู้ต้องหา แม้ยังไม่มีการจับกุมหรือพิสูจน์ความผิด การสืบสวนควรดำเนินอย่างลับเพื่อควบคุมสถานการณ์ ไม่ใช่ถูกจำกัดด้วยการขออนุมัติหรือรายงานต่อหน่วยอื่นก่อนดำเนินการ

2. เพิ่มขั้นตอนโดยไม่จำเป็น ทำให้สอบสวนล่าช้า
ในร่างกฎหมายกำหนดให้การออกหมายเรียก หมายจับ หมายค้น และหมายขัง ต้องได้รับความเห็นชอบจากพนักงานอัยการก่อน ซึ่งจะทำให้กระบวนการสอบสวนล่าช้า และซ้ำซ้อนกับกลไกการพิจารณาของศาลที่มีอยู่แล้ว โดยเฉพาะในคดีเล็กน้อยที่ควรได้รับการดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย การเพิ่มขั้นตอนโดยไม่มีความจำเป็นนี้จึงสร้างภาระแก่พนักงานสอบสวนและทำให้กระบวนการสอบสวนขาดความต่อเนื่อง

3. ขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญเรื่องการถ่วงดุลอำนาจ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 258 (ง)(2) ได้วางหลักการไว้ชัดเจนให้มีการถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ ไม่ใช่ให้ฝ่ายหนึ่งควบคุมอีกฝ่าย การให้พนักงานอัยการมีอำนาจสั่งการหรือควบคุมการสอบสวน เป็นการลดอำนาจของพนักงานสอบสวนอย่างมีนัยสำคัญ และขัดกับหลักการตรวจสอบและคานอำนาจตามรัฐธรรมนูญซึ่งผ่านประชามติจากประชาชน

4. เปิดเผยพยานหลักฐานเร็วเกินไป เสี่ยงทำลายความยุติธรรม
ร่างกฎหมายกำหนดให้พนักงานสอบสวนต้องเปิดเผยพยานหลักฐานแก่ผู้ต้องหาหรือผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ขั้นตอนการสอบสวน ซึ่งอาจทำให้เกิดการข่มขู่พยาน ทำลายพยานหลักฐาน หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง จนกระทบต่อรูปคดี

แม้กฎหมายปัจจุบันจะให้สิทธิจำเลยในการตรวจดูเอกสารหรือหลักฐานในชั้นพิจารณาของศาลอยู่แล้ว การเปิดเผยในขั้นสอบสวนจึงไม่จำเป็น และยังสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของพยานหรือผู้เสียหาย

ทั้งนี้ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ที่กำหนดกลไกตรวจสอบการเปิดเผยข้อมูลไว้แล้วอย่างชัดเจน

สรุปข้อเรียกร้อง
ทั้งสามองค์กรยืนยันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพหรือประโยชน์ให้กับประชาชนทั่วไป ซ้ำยังลดทอนความสามารถของพนักงานสอบสวน เพิ่มภาระโดยไม่จำเป็น และทำให้กระบวนการสอบสวนสอบสวนขาดความต่อเนื่อง เป็นผลเสียต่อระบบยุติธรรมโดยรวม จึงไม่อาจเห็นชอบกับร่างกฎหมายฉบับนี้ได้