แห่จับสัตว์ทะเลเกยตื่นหาดดังชุมพรปรากฎการณ์ปีละครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 9 มิ.ย. 2568  ช่วงหัวค่ำที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวและชาวบ้านนับพันคนแห่เดินทางไปที่หาดทุ่งวัวแล่น ต.สะพลี อ.ปะทิว จ.ชุมพร ซึ่งเป็นชายหาดชื่อดังอันดับหนึ่งของจังหวัดชุมพร พร้อมนำอุปกรณ์จับ กุ้งหอยปูปลา อาทิเช่น อวน สวิง แห ฉมวก และตะกร้าพลาสติกหรืออุปกรณ์ที่สามารถจับสัตว์ทะเลได้ติดตัวมาด้วยหลังจากทราบข่าวแพร่สะพัดมีกุ้งหอยปูปลา ลอยเกยตื่นนับล้านๆตัว ทำให้บรรยากาศในการเดินทางเข้าพื้นที่เต็มไปด้วยรถราผู้คนเต็มถนนแน่นถนัดตา บรรดาแม่ค้าแม่ขาย ร้านค้าต่างๆอยู่ในช่วงสินค้าและอาหารขายดิบขายดี ส่วนบริเวณชายหาดบรรดานักท่องเที่ยวและชาวบ้านกำลังขะมักเขม้นนำอุปกรณ์ลงจับกุ้ง หอย ปูปลา กันอย่างครึกครื้นเพลิดเพลินและเป็นช่วงบรรยากาศยามค่ำคืนทำให้มีแสงไฟสาดส่องระยิบระยับทั่วทั้งชายหาดที่มีความยาวประมาณ 1.5 กิโลเมตร

จากการสอบถามนักท่องเที่ยวและชาวบ้านทราบว่า เดินทางมาจากหลายพื้นที่ทั่วทั้งจังหวัดชุมพร แต่ส่วนใหญ่จะเดินทางมาจากอำเภอท่าแซะ และมีหลากหลายอาชีพ พนักงานห้างร้าน ลูกจ้างบริษัทต่างๆ หรือชาวบ้านที่มีอาชีพทำสวนก็มีด้วย แม้กระทั่งนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาแวะท่องเที่ยวชายหาดก็อดใจไม่ไหวที่จะต้องลงจับปลาด้วย เพราะเห็นว่าบรรยากาศคึกคักเป็นอย่างมาก ปลาที่ได้ส่วนใหญ่จะเป็นปลาตัวเล็ก และลูกกุ้ง เช่น ปลาแป้น ปลาทราย ปลาครูดคราด ปลาจวด ปลาแดง ปลาสระ และปลาอื่นๆที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่ง ด้านนายสุทิศ สุวรรณจ่าง อายุ 59 ปี ชาวอำเภอเมืองชุมพรพร้อมกลุ่มเพื่อน เล่าว่า วันนี้มาเป็นวันแรกและปีแรกเห็นว่าคนเยอะน่าสนุกดี ซึ่งเป็นวันที่สามที่เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ปีละครั้งในช่วงเดือนมิถุนายน ปีนี้มากับเพื่อนๆนำสวิงมาลงจับปลา กุ้ง แต่ได้เป็นตัวเล็กๆตัวใหญ่ไม่ค่อยมีแล้ว ปลากุ้งที่ได้นำมาปรุงอาหารภายในครอบครัว เป็นกับข้าว เมนูชุบแป้งทอดกรอบ สำหรับบรรยากาศล่วงเลยมาประมาณกว่า 3 ทุ่มผู้คนยังเต็มชายหาดพร้อมกับมีสายฝนตกมาโปรยปรายเรื่อยๆ น้ำทะเลยังขึ้นสูงและมีสีขุ่นอาจจะเป็นเพราะว่าจำนวนผู้คนลงหาปลาเป็นจำนวนมาก

จากข้อมูลพบว่า ปรากฏการณ์ปลาทะเลเกยตื้นเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในธรรมชาติ แต่บางครั้งก็อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ซ่อนอยู่ จากการวิเคราะห์ข้อมูลล่าสุด มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นสาเหตุหลักๆ เช่นจากธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปรากฏการณ์ธรรมชาติอื่นๆ เช่น แพลงก์ตอนบลูม (น้ำทะเลเปลี่ยนสี) ที่ทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง ปรากฏการณ์น้ำแดงจากน้ำจืดที่ไหลลงทะเลในฤดูฝน และโรคระบาดในสัตว์ทะเล ปรากฏการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนถึงความไม่สมดุลของระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งบางส่วนเกิดจากธรรมชาติและบางส่วนเกิดจากกิจกรรมของมนุษย์


เอกชนะ นวนละมัย / จ.ชุมพร