ตรัง เปิดโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เคลื่อนที่เฉลิมพระเกียรติ

วันที่ 10 มิ.ย. 2568 นายสกุล ดำรงเกียรติกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นประธานเปิดโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส 4 หน่วย 4 ภาค ทั่วประเทศเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง นายอำเภอย่านตาขาว มูลนิธิกาญจนบารมี หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาสาสมัครสาธารณสุข และพี่น้องประชาชน ร่วมโครงการ

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง และเครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอย่านตาขาว ได้เห็นถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม จึงได้ร่วมกับมูลนิธิกาญจนบารมี เพื่อจัดโครงการคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยเครื่องเอกชเรย์เต้านมเคลื่อนที่ในสตรีกลุ่มเสี่ยงและด้อยโอกาส อำเภอย่านตาชาว จังหวัดตรัง ประจำปี 2568 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักถึงการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้อง จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี 2567 พบว่ามะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งอันดับ 1 ที่พบในสตรีรายใหม่ ถึงร้อยละ 40 และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของสตรีไทย เช่นกัน โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาพบแพทย์ในระยะหลังๆ ซึ่งได้ลุกลามและแพร่กระจายไปแล้วกว่าร้อยละ 56 จากอัตราการเกิดโรค 20.9 ต่อแสนประชากร เริ่มพบในช่วงอายุ 20 ปี ขึ้นไป และพบมากที่สุดช่วง อายุ 35-70 ปี ซึ่งสาเหตุการป่วยด้วยโรคมะเร็งเต้านม ยังไม่ทราบแน่ชัด และการป้องกันมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุด คือ การตรวจเพื่อค้นหาให้ได้เร็วที่สุด ซึ่งการตรวจมี 3 วิธีคือ 1) การตรวจเต้านมด้วยตนเอง 2) การตรวจโดยบุคลากรทางการแพทย์ 3) การตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านม การตรวจเต้านมด้วยเครื่องเอกชเรย์เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่การให้บริการ ยังไม่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย การตรวจเต้านมด้วยตนเองจึงมีความสำคัญสามารถพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษา ตั้งแต่ระยะที่ยังไม่ลุกลามหรือแพร่กระจาย จะลดความรุนแรงการเป็นมะเร็งเต้านมและสามารถรักษาหายขาดได้ถึงร้อยละ 80-90

โครงการฯ ครั้งนี้ดำเนินงานทั้งหมด 9 อำเภอๆละ 2 วัน วันนี้เป็นอำเภอที่หนึ่ง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้ประกอบด้วย การคัดกรองค้นหาสตรีที่มีปัจจัยเสี่ยงและด้อยโอกาสให้ความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม ปัจจัยเสี่ยง อาการ สอนการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และได้รับการตรวจเต้านมโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หากพบความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม จะตรวจด้วยเครื่องเอกชเรย์เต้านมเคลื่อนที่ (Mammoqram) และทำ Ultrasound สตรีที่ตรวจพบสิ่งผิดปกติ จะส่งต่อผู้ป่วย เพื่อรับการรักษาในโรงพยาบาลตรังต่อไป ผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 200 คน โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องเอกชเรย์เต้านมเคลื่อนที่รถนิทรรศการและให้ความรู้จากมูลนิธิกาญจนบารมี

ธัญยวดี  รัตตมณี / จ.ตรัง