ลดจุดความร้อนกว่า 75%! ถอดบทเรียนความสำเร็จการแก้ไฟป่าพื้นที่อนุรักษ์ 3 จังหวัดตะวันตก

อุทยานแห่งชาติและป่าไม้ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี และสุพรรณบุรี ประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นในการลดปัญหาไฟป่าในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวน โดยสามารถลดจุดความร้อน (Hotspots) ลงได้มากกว่า 75% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา อันเป็นผลจากพลังความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ ภาคประชาชน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

นาย ชุติเดช กมนณชนุตม์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติจุดความร้อนในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักฯ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 7.1 ล้านไร่ พบว่าในปีงบประมาณ 2568 มีจุดความร้อนลดลงเหลือเพียง 1,625 จุด จาก 6,728 จุดในปี 2567 และจาก 9,796 จุดในปี 2566 คิดเป็นการลดลงกว่า 75.85% ซึ่งถือเป็นผลงานที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง

พื้นที่ที่ประสบความสำเร็จสูงสุด ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ลดจุดความร้อนจาก 2,085 จุด เหลือเพียง 283 จุด (ลดลง 86.43%) ,อุทยานแห่งชาติเขาแหลม ลดลง 97.96% , อุทยานแห่งชาติไทรโยค ลดลง 96.53%, อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ ควบคุมจุดความร้อนได้ 100% ในปี 2568

โดยเฉพาะในจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่หลักของการดำเนินงาน มีจุดความร้อนลดลงจาก 6,381 จุด เหลือเพียง 1,483 จุดในปี 2568 คิดเป็นการลดลง 76.76% จากการถอดบทเรียนความสำเร็จ พบว่าเกิดจากปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ได้แก่:1. พลังประชาชนและภาคีเครือข่ายการรวมพลังของประชาชน อาสาสมัคร และองค์กรต่างๆ ทั้งในด้านการลาดตระเวน ป้องกันการลักลอบเผาป่า และการแจ้งเบาะแสผู้กระทำผิด รวมถึงการสนับสนุนจากภาคเอกชนด้านเสบียงและอุปกรณ์ 2. นโยบายสนับสนุนจากรัฐบาลการจัดสรรงบประมาณกลางเพื่อเสริมศักยภาพการเฝ้าระวังไฟป่า จัดซื้ออุปกรณ์ ตลอดจนสร้างเครือข่ายชุมชนเข้มแข็ง 3. ระบบสั่งการแบบ Single Command การบริหารจัดการแบบศูนย์บัญชาการรวมในระดับจังหวัดและกลุ่มป่า ทำให้การสั่งการและประสานงานภาคสนามเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง 4. ยุทธศาสตร์ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมอุทยานฯ
ดำเนินงานภายใต้นโยบาย “รวดเร็ว ตรงเป้า เข้าถึงพื้นที่ มีประสิทธิภาพสูงสุด” พร้อมยุทธวิธี “เห็นไฟให้ไว เข้าถึงให้ไว ดับให้เร็ว” และการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

ความสำเร็จนี้เป็นแบบอย่างของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ประชาชน และภาคเอกชน ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และสามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป..

กีรติ ก้อนทองคำ จ.กาญจนบุรี