โคราชจุดความร้อนพุ่ง หลังชาวไร่ลักลอบเผาอ้อยเร่งตัดส่งโรงงานก่อนฝนจะมา พร้อมเรียกร้องภาครัฐอะลุ่มอล่วย

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ที่หอประชุมสำนักงานเกษตรอำเภอด่านขุนทด จ.นครราชสีมา นายมนัส เสียงก้อง เกษตรจังหวัดนครราชสีมา ประชุมตัวแทนชาวไร่อ้อยหารือเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการเกิดจุดความร้อนในพื้นที่การเกษตร และแนวทางการควบคุมพื้นที่การเผา เนื่องจากสถานการณ์หมอกควันฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 รวมถึงขณะนี้มีจุดความร้อนในพื้นที่การเกษตรปี 2568 ทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง

จากการรายงานข้อมูลจุดความร้อนในพื้นที่เกษตรของ จ.นครราชสีมา ของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (Gisda) ผ่านดาวเทียม Suomi NPP ของระบบ VIIRS เดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมา พบจุดความร้อนในพื้นที่การเกษตร จำนวน 276 จุด เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม ปี 2567 จำนวน 197 จุด โดยพบว่ามีจุดความร้อนเพิ่มขึ้นถึง 78 จุด หรือคิดเป็นร้อยละ 40.1

 

 

 

 

 

 

 

 

โดยตัวแทนชาวไร่อ้อยในพื้นที่ อ.ด่านขุนทด ยอมรับว่าชาวไร่ทุกหย่อมหญ้าเดือดร้อนหนัก จำเป็นต้องเผาอ้อยเพื่อเร่งตัดอ้อยส่งโรงงานให้ทันเวลา เพราะตั้งแต่เปิดหีบอ้อยจนถึงขณะนี้เป็นเวลา 2 เดือนเศษ สามารถตัดอ้อยไปได้เพียง 40% ยังเหลือผลผลิตอีกกว่า 60% ที่ยังไม่ได้ตัด กลัวว่าจะตัดอ้อยส่งเข้าหีบไม่ทันเวลาปิดหีบ อีกทั้งระยะถัดจากนี้ไปจะต้องเจอปัญหาฝนตกเป็นอุปสรรคหนักหนาสาหัสในการตัดอ้อย จึงวิงวอนภาครัฐอะลุ่มอล่วยมาตรการห้ามเผาเด็ดขาด ปีนี้ขอผ่อนปรนให้ชาวไร่เผาอ้อยบ้าง ขออย่าได้บังคับใช้กฎหมายรุนแรงจนเกินไป เพราะเหตุผลสำคัญ คือ ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ยังปรับตัวไม่ทันจริง ๆ

 

 

นายอำนวย เพ็งสระเกษ นายกสมาคมชาวไร่อ้อยสีคิ้ว อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่มีข้อเรียกร้องขอลดหย่อนมาตรการห้ามเผาอ้อยเด็ดขาดได้หรือไม่ ขอผ่อนปรนในช่วงท้ายฤดูกาลตัดอ้อยปีนี้อีกสักปีได้หรือไม่ เพื่อให้ชาวไร่อ้อยได้ปรับตัว เพราะหลายรายไม่ได้ขึ้นทะเบียนเปิดโควต้าส่งอ้อยกับทางโรงงาน เป็นการตัดอ้อยส่งขายให้กับพ่อค้าคนกลางรายใหญ่ จึงไม่สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น เงินช่วยตัดอ้อยสดตันละ 120 บาท จนถึงขณะนี้เป็นเรื่องยากมากที่ชาวไร่อ้อยจะตัดอ้อยสด 100% ต้องมีลักลอบเผาบ้าง โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มหรือที่นา เพราะกลัวฝนจะตกแล้วตัดอ้อยไม่ทัน จำเป็นต้องเผาอ้อย เร่งตัดอ้อยไฟส่งขายให้กับโรงงานที่ยังพอเหลือโควต้ารับซื้อไม่ถึง 25% ช่วงนี้จึงเกิดจุดความร้อนเพิ่มมากขึ้น

 

 

 

ปัญหาปีนี้มีมูลเหตุมาจากนโยบายภาครัฐไม่ชัดเจนตั้งแต่ต้น จนถึงเวลาเปิดโรงงานก่อนมีนโยบายตัดอ้อยสด 100% ซึ่งทำไม่ได้แน่นอน กระทั่งลดหย่อนให้มีอ้อยไฟไม่เกิน 25% ชาวไร่อ้อยก็พยายามทำเต็มที่ ตัดอ้อยสด ลดอ้อยไฟ ให้ความร่วมมือเต็มที่ จนถึงขณะนี้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรตัดอ้อยสด รัฐช่วยตันละ 120 บาท ก็ยังไม่ชัดเจนตั้งแต่เมื่อปีที่แล้ว เพราะฉะนั้นวันนี้เกษตรกรจึงพากันเรียกร้องขอให้ภาครัฐอะลุ่มอล่วยกับมาตรการเผาอ้อยลงบ้าง เพราะหากตัดอ้อยไม่ทันปิดหีบ ผลผลิตอ้อยที่ตกค้างหลงเหลือ ใครจะรับผิดชอบ.

 

 

 

ทีมข่าว จ.นครราชสีมา รายงาน