ฮือฮา โคราช ขุดพบ“กระดูกมนุษย์โบราณสมัยสำริด” เพิ่มเป็นจำนวนมาก

ที่โนนพลล้าน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา สำหรับการขุดค้นแหล่งโบราณคดีโนนพลล้าน ซึ่งมาจนถึงวันนี้ (9 กุมภาพันธ์ 2568) กลุ่มโบราณคดีของขุดพบร่องรอยการฝังศพของมนุษย์ร่วมกับหม้อดินเผาแบบบ้านปราสาท (รูปทรงคนโทปากแตรมีเชิง ทาน้ำดินสีแดง) ซึ่งถูกยกให้เป็นรูปแบบเด่นของภาชนะดินเผาสมัยสำริด ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำมูลตอนบน โดยกำหนดอายุสมัยอยู่ในช่วง 3,000-2,500 ปีมาแล้ว ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีจนถึงตอนนี้ เราพบโครงกระดูกมนุษย์ที่พบร่วมกับภาชนะดินเผาแบบบ้านปราสาท สภาพสมบูรณ์ จำนวน 3 โครง
.
โดยรูปแบบการฝังศพของมนุษย์ในช่วงเวลานี้ พบว่า ทั้ง 3 โครง หันศีรษะไปทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ บริเวณเหนือศีรษะและปลายเท้าจะพบภาชนะดินเผาแบบบ้านปราสาทฝังร่วมด้วย เหมือนกันทั้งหมด สำหรับโครงกระดูกมนุษย์ หมายเลข 8 พบว่าสวมกำไลหินอ่อนที่แขนข้างขวา และโครงกระดูกมนุษย์ หมายเลข 9 พบการสวมกำไลหอยมือเสือที่แขนข้างขวา ซึ่งทั้ง 2 โครง ถูกฝังในแนวขนานกัน จึงชวนให้คิดว่า ทั้ง 2 โครงถูกฝังพร้อมกันหรือไม่

 

 

 

 

 

อีกหนึ่งความพิเศษของการฝังศพสมัยสำริดที่พบในครั้งนี้ คือ โครงกระดูกมนุษย์ หมายเลข 7 ลำตัวอยู่ในลักษณะตะแคงซ้าย แขนข้างซ้ายและข้างขวาอยู่ในลักษณะประสานมือเหนือกระดูกเชิงกราน ขาข้างซ้ายเหยียดตรง ขาข้างขวายกงอตั้งขึ้น และยังคงรูปแบบการฝังภาชนะดินเผาเหนือศีรษะและปลายเท้าร่วมด้วย

การขุดค้นแหล่งโบราณคดีโนนพลล้านในปีนี้ช่วยสะท้อนให้เห็นความต่อเนื่องของการใช้พื้นที่เป็นแหล่งฝังศพมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยสำริด (3,000-2,500 ปีมาแล้ว) (โครงกระดูกมนุษย์ หมายเลข 7 8 9 10 และ 11) ต่อเนื่องถึง สมัยเหล็ก (2,400-1,500 ปีมาแล้ว) (โครงกระดูกมนุษย์ หมายเลข 1 2 3 4 5 และ 6) ในพื้นที่เมืองเก่านครราชสีมาบ้านเราได้เป็นรูปธรรม ซึ่งนับเป็นครั้งเเรกของการพบ หม้อปากเเตร ในพื้นเมืองเก่านครราชสีมาด้วย

 

 

 

 

 

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นที่ยอมรับ เราต้องรอผลการกำหนดอายุสมัยด้วยวิธีวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการ ซึ่งหลังจากการสิ้นสุดการขุดค้น กลุ่มโบราณคดีจะรีบนำส่งตัวอย่างต่อไป..

 

 

 

นครราชสีมา/กัญศลักษณ์ รุ่งสุขประเสริฐ